คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการบริจาคเงินเพิ่มทุนในกองทุน ADF 13 ของประเทศไทย จำนวน 71.22 ล้านบาท โดยแบ่งชำระออกเป็น 4 งวด ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2567 และมอบหมายให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
แนวทางการดำเนินงานของกองทุน ADF 13 เป็นไปตามยุทธศาสตร์ 2030 ของ Asian Development Bank (ADB) โดยมุ่งเน้น 6 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
(1) สนับสนุนให้ความช่วยเหลือสถานการณ์ที่เปราะบางและมีความขัดแย้ง (Fragile and Conflict-Affected Situations: FCAS) และรัฐหมู่เกาะขนาดเล็ก (Small Island Developing States: SIDS)
(2) บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 5 โดยผลักดันความเท่าเทียมกันทางเพศให้มีความก้าวหน้า (Sustainable Development Goal 5?s Gender Equality)
(3) สนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Adaptation) การรับมือกับภัยพิบัติ
(4) ส่งเสริมความร่วมมือและการบูรณาการในภูมิภาค รวมถึงสินค้าสาธารณะระดับภูมิภาค (Regional Public Goods: RPG)
(5) สนับสนุนภาคเอกชนในการค้าชายแดน และ
(6) เสริมสร้างความยั่งยืนหนี้สาธารณะ (Debt Sustainability) ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ
ในส่วนของประเทศไทยนั้น การบริจาคเงินเพิ่มกองทุนในกองทุน ADF 13 จะเป็นไปตามขนาดสัดส่วนเดิมที่เคยบริจาคเงินในกองทุน ADF 12 ซึ่งประเทศไทยมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 0.08 ของยอดเงินบริจาคจากประเทศสมาชิกทั้งหมด คิดเป็นจำนวนเงินที่ประเทศไทยจะต้องบริจาคเงินเพิ่มทุนในกองทุน ADF 13 จำนวน 71.22 ล้านบาท หรือประมาณ 2.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การชำระเงินบริจาคในกองทุน ADF 13 ของประเทศไทย แบ่งชำระเงินบริจาคเป็นเวลา 4 ปี เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564 - 2567 โดยแบ่งชำระปีละ 17.8 ล้านบาท และขอรับสิทธิประโยชน์ในรูปแบบเครดิต (Credit) ที่อัตราร้อยละ 2.76 ของยอดเงินบริจาค คิดเป็นเงิน จำนวน 1,965,653 บาท ซึ่งจะทำให้มูลค่าเงินบริจาคหลังบวกเครดิตเท่ากับ 73,184,973 บาท และทำให้มีสัดส่วนการบริจาคที่ร้อยละ 0.0858 ของยอดเงินบริจาคจากประเทศสมาชิกทั้งหมด
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563