1. เห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 38 ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน+3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ครั้งที่ 17 ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมสุดยอดรัฐมนตรีพลังงานเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 14 และร่างถ้อยแถลงร่วมว่าด้วยโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่าง สปป.ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน) เป็นผู้ให้การรับรองในร่างถ้อยแถลงร่วมฯ นี้ ร่วมกับรัฐมนตรีพลังงานของกลุ่มประเทศสมาชิกดังกล่าวได้
หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 38 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย และไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้กระทรวงพลังงานและคณะผู้แทนไทยที่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง
ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถบังเกิดผลเป็นรูปธรรมสำหรับความร่วมมือด้านพลังงานภายใต้กรอบดังกล่าวในช่วงการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 38 ในระหว่างวันที่ 17 - 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 ซึ่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเป็นเจ้าภาพในการประชุม โดยใช้ระบบการประชุมแบบออนไลน์ ซึ่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเป็นเจ้าภาพในการประชุม
1. ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 38 จะเป็นถ้อยแถลงร่วมสรุปผลการประชุม ซึ่งประกอบด้วยสาระหลัก คือ การเน้นความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องสู่พลังงานที่มั่นคง เข้าถึงได้ และยั่งยืนในอาเซียน รวมถึงการบรรลุเป้าหมายตามแผน APAEC พ.ศ. 2559 ? 2568 ( APAEC ระยะที่ 1 พ.ศ. 2559 ? 2563) ซึ่งให้ความสำคัญในการลดความเข้มข้นของการใช้พลังงานในอาเซียน และการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในภาพรวมการใช้พลังงานของอาเซียนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ร้อยละ 23 ภายในปี พ.ศ. 2568 และยืนยันความจำเป็นที่จะส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด เพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคงด้านพลังงาน ความสามารถในการแข่งขันเชิงเศรษฐกิจ และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคและยินดีกับการขยายการซื้อ ? ขายไฟฟ้าแบบพหุภาคีในภูมิภาคอาเซียนผ่านการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ (LTMS) ว่าด้วยโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่าง สปป.ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์
2. ร่างถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน+3 ครั้งที่ 17 จะเป็นถ้อยแถลงร่วมสรุปผลการประชุม ซึ่งประกอบด้วยสาระหลัก คือ การเน้นความสำคัญของความร่วมมือในกลุ่มประเทศอาเซียน+3 เพื่อไปสู่ความมั่นคงทางพลังงานในภูมิภาค แสดงความมุ่งมั่นที่จะดำเนินมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในภาคพลังงานอย่างยั่งยืน โดยการเสริมสร้างนวัตกรรมและความเข้มแข็งในความร่วมมือระหว่างกัน ให้สอดรับกับการเปลี่ยนผ่านและความยืดหยุ่นด้านพลังงาน เน้นย้ำถึงการสนับสนุนอันแข็งแกร่งในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน ระยะที่ 2 พ.ศ. 2564 ? 2568 ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ โดยสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มและมุมมองด้านพลังงานในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน+3 อย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วยกรอบความร่วมมือด้านความมั่นคงด้านพลังงาน การจัดการประชุมหารือและการเจรจาธุรกิจตลาดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ พลังงานใหม่ พลังงานหมุนเวียน ประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน และการประชุมโต๊ะกลมด้านพลังงานสะอาด
3. ร่างถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีพลังงานแห่งเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 14 จะเป็นถ้อยแถลงร่วมสรุปผลการประชุม ประกอบด้วยสาระหลัก คือ การตอบสนองของภาคพลังงานต่อการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และความร่วมมือระหว่างรัฐมนตรีจากประเทศเอเชียตะวันออกร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อการฟื้นฟูทางด้านเศรษฐกิจและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความมั่นคงในการจัดหาพลังงานสะอาดและสามารถเข้าถึงได้ โดยมีความมุ่งมั่นว่าแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียนฉบับใหม่ ระยะที่ 2 ปี พ.ศ. 2564 ? 2568 จะช่วยกระตุ้นการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสำหรับภูมิภาคอาเซียนและเสริมสร้างความเข้มแข็งในการฟื้นฟูด้านพลังงานผ่านนวัตกรรมและกระชับความร่วมมือให้มากขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า ผ่านแผนงานความร่วมมือด้านพลังงานของเอเชียตะวันออก ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการเป็นสังคมแห่งไฮโดรเจน ก๊าซธรรมชาติ และการจำกัดการใช้และการจัดเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ภายใต้กรอบความร่วมมือ อาทิ (1) ด้านประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน (2) ด้านเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับภาคการขนส่งและอื่น ๆ และ (3) ด้านการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก ทั้งนี้ เน้นให้ความสำคัญในด้านการส่งเสริมเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมและการส่งเสริมการเป็นสังคมแห่งการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การสนับสนุนเพื่อเพิ่มการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของตลาด LNG ในภูมิภาค และแนวคิดที่จะส่งเสริมการนำ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาใช้ใหม่อีกด้วย
4. ร่างถ้อยแถลงร่วมว่าด้วยโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่าง สปป.ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ จะเป็นถ้อยแถลงร่วมสรุปผลการประชุม ประกอบด้วยสาระหลัก คือ การประกาศความมุ่งมั่นที่จะริเริ่มการซื้อ ? ขายไฟฟ้าพหุภาคีข้ามพรมแดนระหว่าง 4 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรไทย สหพันธรัฐมาเลเซีย และสาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยดำเนินงานภายใต้โครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่าง สปป.ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ (Lao PDR-Thailand-Malaysia-Singapore Power Integration Project: LTMS-PIP) ที่ระบุถึงปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าในโครงการ LTMS ระยะแรกจำนวน 100 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2565 ? 2566 โดยผ่านระบบเชื่อมโยงสายส่งที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันระหว่าง 4 ประเทศ นับเป็นความมุ่งมั่นของทั้ง 4 ประเทศ ในความร่วมมือด้านการค้าไฟฟ้าพหุภาคีในอาเซียน เพื่อการพัฒนาและต่อยอดโครงการสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid) ซึ่งเป็น 1 ใน 7 สาขาความร่วมมือภายใต้แผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563