คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 และสิ้นสุดในวันที่ 15 มกราคม 2564 ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ
เรื่องเดิม เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 7) ตั้งแต่วันที่ 1พฤศจิกายน 2563 และสิ้นสุดในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 เพื่อขยายระยะเวลาการบังคับใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในประเทศ
การดำเนินการที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติในฐานะศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 (ศบค.) ได้เชิญหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการในด้านต่าง ๆ ตามพระราชกำหนดฯ ผู้แทนส่วนราชการและประชาคมข่าวกรองเข้าร่วมการประชุม โดยมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นประธาน เพื่อประเมินผลการปฏิบัติของส่วนราชการต่าง ๆ ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินและพิจารณากำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19 ในภาพรวมทั่วโลกยังมีแนวโน้ม ทวีความรุนแรงและพบการระบาดระลอกที่สอง ในหลายภูมิภาค โดยมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นประมาณวันละ5 แสนคนทั่วโลก โดยปัจจุบันประเทศหลายประเทศในทวีปยุโรปได้กลับมาใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดอีกครั้ง นอกจากนี้จากการประเมินขององค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะรุนแรง มากขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว โดยคาคว่าจะมีผู้ติดเชื้อ 60 - 62 ล้านคนทั่วโลก
2. นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19 ในประเทศเพื่อนบ้านยังคง น่าวิตก โดยในประเทศเมียนมาและมาเลเซียพบผู้ติดเชื้อประมาณหนึ่งพันคนต่อวัน และประเทศกัมพูชายังตรวจพบเจ้าหน้าที่อารักขารัฐมตรีฮังการีติดเชื้อ 1 ราย สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยยังคงอยู่ในห้วงที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดและมีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดระลอกใหม่เนื่องจากมีการพบผู้ติดเชื้อในกลุ่มนักท่องเที่ยวและผู้เดินทางกลับมาจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
3. ที่ประชุมยังให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมว่ามีความจำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียม ความพร้อมเพื่อบังคับใช้มาตรการด้านสาธารณสุขรองรับช่วงเทศกาลคริสต์มาสและเทศกาลขึ้นปีใหม่ 2564 รวมถึงการจัดการแข่งขันแบตมินตันระดับนนาชาติ (BWF World Tour) ที่จะจัดขึ้นในประเทศไทยระหว่างวันที่ 12-31 มกราคม 2564 ซึ่งจะมีการรวมกลุ่มของประชาชน การเดินทางข้ามจังหวัดและการเดินทางเข้าออกประเทศมากกว่าในเวลาปกติ อีกทั้งปัจจุบันยังปรากฏสถานการณ์การรวมกลุ่มของประชาชนเพื่อชุมนุมประท้วงซึ่งจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคควิด - 19 ในระลอกที่สองอีกด้วย
4. ที่ประชุมเห็นพ้องว่ายังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจอย่างเพียงพอในการปฏิบัติงานที่จำเป็นเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นการคุ้มครองการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อย่างเหมาะสมต่อไป
5. สมช. ได้นำผลการประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดังกล่าวเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ครั้งที่ 14/2563 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบผลการประชุม และมีมติให้นำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรต่อไป
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 พฤศจิกายน 2563