คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 27 ซึ่งสหพันธรัฐมาเลเซียในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปค ประจำปี 2563 ได้จัดการประชุมผ่านระบบทางไกล เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2563 โดยมีที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
สาระสำคัญของเรื่อง
1. การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของโลกอย่างมาก โดยเฉพาะต่อวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย รวมทั้งก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่สุดนับแต่ปี 2473 ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวในช่วงปลายปี 2564 และกลุ่มธนาคารโลกคาดการณ์ตัวเลขคนยากจนมากที่สุดจะเพิ่มขึ้นอีก 110 - 150 ล้านคน ในปี 2564
2. ผู้แทนไทยได้ชี้แจงต่อที่ประชุมเกี่ยวกับมาตรการด้านการคลังและการเงินของไทยในการรับมือและกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งใช้งบประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 12 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ เพื่อดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ เช่น การให้เงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ การให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และการออกกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารซึ่งมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ไทยให้ความสำคัญกับความโปร่งใส่และความยั่งยืนทางการคลังซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของเขตเศรษฐกิจเอเปค นอกจากนี้ระดับหนี้สินสาธารณะของไทยยังอยู่ภายใต้กรอบความมั่นคงทางการคลัง โดยร้อยละ 98 ของเงินกู้มาจากแหล่งเงินกู้ในประเทศ
3. เอเปคให้ความสำคัญกับการดำเนินการด้านสุขภาพ สาธารณสุข โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนาตัวยาและวัคซีนสำหรับโควิด-19 และการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในระบบการเงิน ซึ่งระบบดิจิทัลได้มีบทบาทที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจของภาคส่วนต่าง ๆ รวมไปถึงการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ เอเปคอาจพิจารณาความเป็นไปได้ในการเพิ่มโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตไว้ในกรอบการทำงานด้านความเสี่ยงทางการเงินและการประกันภัยด้วย
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 พฤศจิกายน 2563