ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ข่าวการเมือง Tuesday December 1, 2020 17:47 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ

ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 โดยแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับมาตรการทั่วไปและมาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยาน หน้าที่และอำนาจของสำนักงานคุ้มครองพยานและอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการคุ้มครองความปลอดภัยของพยานและหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายแก่พยาน เพื่อให้พยานเกิดความเชื่อมั่น ได้รับความคุ้มครอง และได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมยิ่งขึ้น

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้ ?พยาน? หมายความว่า บุคคลซึ่งจะมาให้หรือได้ให้ข้อเท็จจริงต่อพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญา หรือศาล ในการดำเนินคดีอาญา รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญ
2. กำหนดให้พยานในคดีอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้อาจได้รับการคุ้มครองตามมาตรการพิเศษได้

2.1 คดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือคดีความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

2.2 คดีความผิดตามมาตรา 282 มาตรา 283 มาตรา 317 มาตรา 318 หรือมาตรา 319 แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือคดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์หรือตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี 3. กำหนดให้สำนักงานคุ้มครองพยานดำเนินการเพื่อคุ้มครองพยานตามมาตรการพิเศษอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

3.1 ย้ายที่อยู่หรือจัดหาที่พักอันเหมาะสม

3.2 จ่ายค่าเลี้ยงชีพที่สมควรแก่พยาน สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพยาน

3.3 ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล และหลักฐานทางทะเบียนที่สามารถระบุตัวพยาน รวมทั้งการดำเนินการเพื่อกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามคำขอของพยานด้วย

3.4 ดำเนินการเพื่อให้มีอาชีพ ให้มีการศึกษาอบรม หรือดำเนินการใดเพื่อให้พยานสามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามที่เหมาะสม

3.5 ช่วยเหลือในการเรียกร้องสิทธิที่พยานพึงได้รับ

3.6 ดำเนินการให้มีเจ้าหน้าที่คุ้มครองความปลอดภัยในระยะเวลาที่จำเป็น

3.7 ดำเนินการอื่นใดให้พยานได้รับความช่วยเหลือหรือได้รับความคุ้มครองตามที่เห็นสมควร ในกรณีตามข้อ 3. เมื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร กฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชน หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้รับแจ้งจากสำนักงานคุ้มครองพยาน ให้หน่วยงานดังกล่าวมีหน้าที่และอำนาจดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่หน่วยงานนั้นกำหนด 4. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายอาจสั่งให้การคุ้มครองพยานตามมาตรการพิเศษสิ้นสุดลงเมื่อมีเหตุอื่นใดตามที่เห็นสมควร โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและการดำรงชีวิตตามปกติของพยาน 5. เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความปลอดภัยของพยาน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจค้นตัวบุคคลหรือยานพาหนะที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าจะก่อภัยอันตราย หรือคุกคามพยาน สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพยาน รวมทั้งมีอำนาจยึดสิ่งของหรือทรัพย์สินที่อาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่พยาน สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพยาน ในกรณีที่เป็นความผิดทางอาญา ให้มีอำนาจจับกุมและแจ้งพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจแห่งท้องที่ที่จับเพื่อดำเนินการต่อไป 6. เมื่อพยานได้ให้ข้อเท็จจริงต่อพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนคดีอาญา หรือพนักงานผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญา หรือเบิกความต่อศาลแล้ว พยานพึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและสมควร ทั้งนี้ ตามระเบียบที่ ยธ. กำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง (กค.) แต่ในกรณีที่เป็นพยานโจทก์ในคดีความผิดต่อส่วนตัวซึ่งผู้เสียหายเป็นโจทก์หรือเป็นพยานจำเลย ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะมีคำสั่งให้มีการจ่ายค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายดังกล่าว แต่ไม่เกินอัตราตามระเบียบที่ ยธ. กำหนด โดยความเห็นชอบของ กค.

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 ธันวาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ