คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประจำครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2563 [ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มาตรา 28/7 ที่บัญญัติให้ กนง. รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีทุกหกเดือน] โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
กนง. ดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น โดยให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลางเป็นเป้าหมายหลักควบคู่กับการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ รวมถึงการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน โดยใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1-3 เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลางและสำหรับปี 2563
- ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 กนง. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยหดตัวรุนแรง (ไตรมาสที่ 1 หดตัวร้อยละ 2 ส่วนไตรมาสที่ 2 หดตัวร้อยละ 12.2 จากระยะเดียวกันของปีก่อน) โดยปริมาณการส่งออกสินค้า (ไม่รวมทองคำ) และภาคการผลิตหดตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกที่ปรับลดลงมาก การส่งออกบริการหดตัวแรงจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัวตามรายได้แรงงานที่ลดลงและความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ซึ่งสอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์และความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่อ่อนแอลงมาก อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน
- ประมาณการเศรษฐกิจ ณ เดือนมิถุนายน 2563 คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวที่ร้อยละ 8.1 ใน 2563 และจะกลับมาขยายตัวได้ที่ร้อยละ 5.0 ในปี 2564
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปช่วงครึ่งแรกของปี 2563 เฉลี่ยติดลบร้อยละ 1.13 ลดลงจากช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ที่ร้อยละ 0.50 และต่ำกว่าขอบล่างของเป้าหมายนโยบายการเงินจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญตามราคาน้ำมันดิบที่ลดลง หลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และส่วนหนึ่งจากมาตรการลดค่าสาธารณูปโภคเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาล โดย กนง. ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบร้อยละ 1.7 ในปี 2563 แต่ไม่ได้แสดงว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงภาวะเงินฝืดเนื่องจากราคาสินค้าและบริการไม่ได้มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องยาวนาน โดยปรับลดเฉพาะบางรายการ รวมถึง การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสาธารณชนในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย ทั้งนี้ กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 3. เสถียรภาพระบบการเงิน
ระบบการเงินไทยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มหดตัวโดยต้องติดตามความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินในจุดต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด เช่น (1) ความเสี่ยงในตลาดการเงินเนื่องจากราคาสินทรัพย์ในตลาดการเงินโลกอาจปรับลดลงรุนแรง โดยตลาดการเงินไทยเกิดความผันผวนหลังจากนักลงทุนรายใหญ่เร่งไถ่ถอนหน่วยลงทุนจากกองทุนรวม (2) ภาคครัวเรือนและธุรกิจมีความเสี่ยงสูงขึ้นจากสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ที่ด้อยลงมาก
- กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 3 ครั้ง จากร้อยละ 1.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศปรับลดอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จากร้อยละ 0.46 เหลือร้อยละ 0.23 ของฐานเงินฝาก เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้สถาบันการเงินปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงเพิ่มเติมเพื่อช่วยบรรเทาภาระหนี้ของประชาชนและภาคธุรกิจอีกทางหนึ่ง
กนง. เห็นว่าควรติดตามสถานการณ์ตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสถานการณ์ตลาดการเงิน ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ และระบบสถาบันการเงิน ทั้งนี้ มาตรการที่ ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 เช่น (1) เข้าดูแลสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล (2) จัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (3) ลดเพดานดอกเบี้ย ค่าบริการ ต่าง ๆ และเบี้ยปรับสำหรับลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 3. การดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน
กนง. ให้ความสำคัญกับการติดตามและดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวนเกินไปจนกระทบต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจ โดยเห็นควรติดตาม
(1) สถานการณ์ตลาดการเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด
(2) ผลของมาตรการผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้ายขาออกที่ได้ดำเนินการไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 รวมทั้งประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม 4. การสื่อสารนโยบายการเงิน
กนง. เน้นการสื่อสารที่ชัดเจนเกี่ยวกับเหตุผลประกอบการตัดสิน
นโยบายการเงิน รวมทั้งประเด็นการหารือต่าง ๆ ของ กนง. ที่มีนัยสำคัญต่อการตัดสินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจมุมมองการตัดสินใจของ กนง. โดยมีการสื่อสารผ่านการแถลงผลการประชุม รายงานนโยบายการเงินและจดหมายเปิดผนึกชี้แจงการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อ อินโฟกราฟิก เป็นต้น
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 ธันวาคม 2563