คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คกง.) ในคราวประชุมครั้งที่ 29/2563 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ตามที่เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เสนอ ดังนี้ 1. อนุมัติโครงการเพิ่มศักยภาพและปรับปรุงเครื่องจักรอุปกรณ์ปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว ของกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานที่ 3.11 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พระราชกำหนดฯ) กรอบวงเงิน 1,601,4304 ล้านบาท และมอบหมายให้กรมการข้าว กษ. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการฯ พร้อมทั้งรับประเด็นและข้อสังเกตของ คกง. ไปดำเนินการต่อไปด้วย 2. อนุมัติโครงการกระตุ้นและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย (Community Cultural Product of Thailand : CCPOT) ของสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานที่ 3.1 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ กรอบวงเงิน 176.57953 ล้านบาท และมอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม วธ. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการฯ พร้อมทั้งรับประเด็นและข้อสังเกตของ คกง. ไปดำเนินการต่อไปด้วย 3. มอบหมายให้หน่วยงานรับผิดชอบโครงการฯ ตามข้อ 1 และ 2 ดำเนินการ ดังนี้
3.1 จัดทำความต้องการใช้จ่ายเป็นรายเดือน เพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะสามารถจัดหาเงินกู้เพื่อใช้จ่ายโครงการตามแผนการใช้จ่ายเงินที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการเงินของภาครัฐ
3.2 รายงานความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการ และการใช้จ่ายเงินกู้ รวมถึงปัญหาอุปสรรค โดยจัดส่งให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลัง (กค.) กำหนด ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป
3.3 ประสานกับ กค. ในการรายงานขีดความสามารถในการชำระคืนหนี้เงินกู้ประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 6 แห่งพระราชกำหนดฯ ด้วย 4. อนุมัติให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับปรุงรายละเอียดวิธีดำเนินโครงการคนละครึ่ง ตามที่ กค. เสนอ พร้อมทั้งมอบหมายให้ สศค. รับความเห็นและข้อสังเกตของ คกง. ไปดำเนินการต่อไปด้วย
________________________
1 แผนงานหรือโครงการลงทุนและกิจกรรมการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพและยกระดับการค้า การผลิต และการบริการในสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยครอบคลุมภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การค้าและการลงทุน ท่องเที่ยวและบริการ
สาระสำคัญของเรื่อง
คกง. รายงานว่า ที่ประชุม คกง. ในคราวประชุมครั้งที่ 29/2563 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 มีมติ ดังนี้
1. โครงการเพิ่มศักยภาพและปรับปรุงเครื่องจักรอุปกรณ์ปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว ของกรมการข้าว กษ.
1.1 สาระสำคัญของโครงการ
1. วัตถุประสงค์
1.1 เพื่อปรับปรุงเครื่องจักรปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ จัดหาชุดเครื่องชั่งบรรจุพร้อมระบบจัดเรียงแบบอัตโนมัติประจำโรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ โรงงาน A2 จำนวน 20 ศูนย์ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นจากเดิม 5 ตัน/ชั่วโมง เป็น 7 - 10 ตันต่อชั่วโมง
1.2 เพื่อปรับปรุงเพิ่มเติมระบบไฟฟ้าควบคุมเครื่องจักรพร้อมอุปกรณ์โรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ จำนวน 18 ศูนย์ ให้สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับเครื่องจักรอุปกรณ์ได้เต็มประสิทธิภาพ รองรับการติดตั้งเครื่องชั่งบรรจุและระบบจัดเรียงแบบอัตโนมัติได้
1.3 เพิ่มศักยภาพการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว โดยจัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ทดแทนของเดิมซึ่งติดตั้งในโรงงาน A1 ที่ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2529 จำนวน 5 ศูนย์ ให้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม
1.4 ก่อสร้างอาคารพร้อมติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์เพื่อการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ประจำโรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ โรงงานใหม่ รวม 4 ศูนย์ ให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
1.5 เพื่อรองรับผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ถูกเลิกจ้างและกลับไปภูมิลำเนา มีอาชีพเป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ ประมาณ 5,383 ราย ทำให้สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเพิ่มขึ้นจำนวน 34,000 ตัน
2. กลุ่มเป้าหมาย
โรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว ทั้ง 20 ศูนย์ ได้รับการปรับปรุงและเพิ่มศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวทั่วไปมีเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีเพียงพอต่อความต้องการ
3. กิจกรรม
3.1 การปรับปรุงเครื่องจักรปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ โดยเพิ่มเติมชุดเครื่องชั่งบรรจุพร้อมระบบจัดเรียงแบบอัตโนมัติ จำนวน 20 ชุด และระบบไฟฟ้าควบคุมเครื่องจักร จำนวน 18 ชุด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการชั่งบรรจุ จัดเรียงให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น (โรงงาน A2)
3.2 การเพิ่มศักยภาพโรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว โดยการจัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ทดแทนของเดิมของโรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ (โรงงาน A1) จำนวน 5 ศูนย์ และก่อสร้างอาคารพร้อมติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์เพื่อการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ประจำโรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์โรงงานใหม่รวม 4 ศูนย์ ที่ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2519 ให้มีศักยภาพยิ่งขึ้น
4. งบประมาณ 1,601.4304 ล้านบาท
5. กรอบระยะเวลา 1 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564)
1.2 มติ คกง.
เห็นควรให้ความเห็นชอบโครงการฯ โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานที่ 3.1 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ กรอบวงเงิน 1,601.4304 ล้านบาท พร้อมทั้งเห็นควรมอบหมายให้กรมการข้าวเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการฯ และดำเนินการตามข้อ 3.1 ? 3.3
2.1 สาระสำคัญของโครงการ
1. วัตถุประสงค์
1.1 เพื่อสนับสนุนให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมตามแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในด้านต่าง ๆ ของรัฐบาล
1.2 เพื่อลดต้นทุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชน เนื่องจากผลิตเท่าเดิมระบบเดิมโดยใช้ทุนชุมชนที่มีราคาต่ำแต่ขายได้ในราคาสูงขึ้น
1.3 เพื่อสร้างสินค้าและบริการของชุมชนรูปแบบใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่ม มีความต้องการของตลาดมากขึ้น เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้
2. กลุ่มเป้าหมาย ประชาชน จำนวน 200,000 คน และผู้ประกอบการ จำนวน 3,530 ราย
3. กิจกรรม เช่น
3.1 พัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนโดยใช้ทุนชุมชน สำหรับประชาชนทั่วไป (CCPOT ระดับโท) 5,000 รายการ สำหรับตลาดระดับพรีเมียม (CCPOT ระดับเอก) 76 รายการ
3.2 ศึกษาข้อมูลทุติยภูมิและลงพื้นที่เก็บข้อมูลปฐมภูมิชุมชนมรดกวัฒนธรรม 30 ชุมชน เพื่อพัฒนาคุณค่าวัฒนธรรม (abstract value) เป็นผลิตภัณฑ์ศิลปะมรดกวัฒนธรรม (Intangible Cultural Heritage Art Made Product: ICHAMP)
3.3 คัดเลือกคุณค่าวัฒนธรรมจาก 30 ชุมชนมรดกวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ICHAMP ระดับเพชร รวม 10 รายการ และระดับทอง 240 รายการ
3.4 พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนมรดกวัฒนธรรมโดยกิจกรรมประกวด 30 ชุมชนมรดกวัฒนธรรมเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ ICHAMP ระดับเพชร รวม 10 รายการ
3.5 พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนมรดกวัฒนธรรมโดยผู้เชี่ยวชาญพิเศษสู่ ICHAMP ระดับทอง รวม 240 รายการ
4. งบประมาณ 176.57953 ล้านบาท
5. กรอบระยะเวลา 1 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564)
2.2 มติ คกง. เห็นควรให้ความเห็นชอบโครงการฯ โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานที่ 3.1 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ กรอบวงเงิน 176.57953 ล้านบาท พร้อมทั้งเห็นควรมอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมรับความเห็นและข้อสังเกตของ คกง. เช่น ควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มช่องทางการตลาดโดยการประสานงานและบูรณาการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมจัดทำแผนการตลาดของโครงการฯ รวมทั้งการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าอื่น ๆ ไปดำเนินการ และให้ดำเนินการตามข้อ 3.1 ? 3.3 ด้วย
3. โครงการคนละครึ่ง
3.1 กค. โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขอปรับปรุงรายละเอียดวิธีดำเนินโครงการฯ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 ดังนี้
1. ขยายขอบเขตประเภทร้านค้า
รายละเอียดตามมติคณะรัฐมนตรี (29 กันยายน 2563)
ผู้ประกอบการร้านอาหาร/เครื่องดื่ม ร้านทั่วไป ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่ใช่นิติบุคคล และไม่ใช่ร้านสะดวกซื้อที่เป็นธุรกิจแฟรนไชส์
ขอปรับปรุงรายละเอียดในครั้งนี้
ผู้ประกอบการร้านอาหาร/เครื่องดื่ม ร้านค้าทั่วไป ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่ใช่นิติบุคคล หรือร้านค้าของกองทุนหมู่บ้านหรือกองทุนชุมชนเมืองตามพระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2547 หรือวิสาหกิจชุมชนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะต้องไม่ใช่ร้านค้าสะดวกซื้อที่เป็นธุรกิจแฟรนไชส์ (โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เพื่อให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อยที่มีความสำคัญต่อวงจรเศรษฐกิจฐานราก ได้แก่ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และร้านค้าชุมชน และเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้จ่ายไปยังชุมชนเพิ่มขึ้นและบรรลุ
วัตถุประสงค์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจนถึงระดับฐานราก)
2. ขยายระยะเวลาการเบิกจ่าย
รายละเอียดตามมติคณะรัฐมนตรี (29 กันยายน 2563)
เงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ จำนวน 30,000 ล้านบาท
ขอปรับปรุงรายละเอียดในครั้งนี้
เงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ จำนวน 30,000 ล้านบาท โดยให้เบิกจ่ายงบประมาณดำเนินโครงการคนละครึ่งถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 [เพื่อให้ระยะเวลาการเบิกจ่ายครอบคลุมการดำเนินการโอนเงินซ้ำ (Retry)]
ทั้งนี้ รายละเอียดเงื่อนไขอื่นคงเดิม ซึ่งไม่กระทบต่อวงเงินรวม 3,000 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการ และไม่กระทบวงเงินงบประมาณรวมของโครงการ จำนวน 30,000 ล้านบาท
3.2 มติ คกง.
เห็นควรให้ความเห็นชอบการปรับปรุงรายละเอียดวิธีดำเนินโครงการฯ ตามที่ กค. เสนอ พร้อมทั้งมอบหมายให้ สศค. รับความเห็นและข้อสังเกตของ คกง. ไปดำเนินการต่อไปด้วย เช่น เห็นควรให้ สศค. ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบคุณสมบัติของร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ รวมถึงสถานะบัญชีของผู้เข้าร่วมโครงการฯ ให้มีความถูกต้องและชัดเจนตรงตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ และเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาการโอนเงินซ้ำให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 ธันวาคม 2563