ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 53 และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

ข่าวการเมือง Tuesday December 1, 2020 18:50 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 53 และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และมอบหมายส่วนราชการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามผลการประชุม ตามที่กระทรวง การต่างประเทศ (กต.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง
1. การสร้างประชาคมอาเซียน ที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับการจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลัง ค.ศ. 2025 และการทบทวนแผนงานประชาคมอาเซียนทั้ง 3 เสา รวมทั้งย้ำความสำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน การส่งเสริมความเป็นแกนกลางของอาเซียนในการดำเนินความสำพันธ์กับภาคีภายนอก การลดการเผชิญหน้าระหว่างประเทศมหาอำนาจ และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวของภูมิภาคในระยะยาว
2. ความร่วมมือเพื่อรับมือกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

2.1 ที่ประชุมได้ย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความร่วมมือทั้งด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัส การจัดทำมาตรฐานวิธีปฏิบัติของอาเซียนสำหรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข และการใช้ประโยชน์จากกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 โดยที่ประชุมแสดงความชื่นชมที่ไทยบริจาคเงินจำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสมทบกองทุนดังกล่าว ปัจจุบันกองทุนฯ มีเงินบริจาครวมมากกว่า 400,000 ดอลลาร์สหรัฐ

2.2 รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้เห็นชอบเอกสารแนวคิดการจัดตั้งคลังสำรองระดับภูมิภาคสำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและจัดทำกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียนเพื่อเสนอให้ผู้นำอาเซียนรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 ในเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งไทยได้เสนอให้อาเซียนจัดตั้งกลไก ?ASEAN SME Recovery Facility? ภายใต้กรอบการฟื้นฟูฯ เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนและฟื้นตัวจากโควิด-19

2.3 ประเทศคู่เจรจาทุกประเทศแสดงความพร้อมในการสนับสนุนอาเซียนโดยเฉพาะด้านการพัฒนาและการผลิตยาและวัคซีน โดยประเทศต่าง ๆ ได้ประกาศสนับสนุนเงินเพื่อสมทบกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับ โควิด-19 และการสนับสนุนความช่วยเหลือในรูปแบบอื่น ๆ เช่น การจัดตั้งคลังสำรองอุปกรณ์ทางการแพทย์ในกรอบอาเซียนบวกสาม การจัดตั้งศูนย์ ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases การมอบอุปกรณ์ป้องกันโรคและเวชภัณฑ์และการยกระดับศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามให้เป็นสำนักงานระดับภูมิภาค 3. ความร่วมมือด้านการพัฒนาในอนุภูมิภาค ได้มีการหารือเกี่ยวกับบทบาทของอาเซียนในการสนับสนุนการพัฒนาในอนุภูมิภาคต่าง ๆ ในอาเซียน ตลอดจนการสนับสนุนกรอบความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง โดยที่ประชุมฯ ย้ำความสำคัญของการลดช่องว่างการพัฒนา การพัฒนาที่ยั่งยืนและการพัฒนาทุนมนุษย์ 4. สถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ

สถานการณ์ในทะเลจีนใต้

  • ที่ประชุมย้ำความสำคัญของเสรีภาพในการเดินเรือและบินผ่านทะเลจีนใต้ การปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ การเจรจาจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ให้แล้วเสร็จ การแก้ไขข้อพิพาทโดยสันติวิธี
  • ไทยสามารถผลักดันเอกสาร ?Best Practices and Non-Binding Guideline for Cooperative Activities on Marine Environment Protection in the South China Sea? ให้ที่ประชุมอาเซียน-จีนรับทราบได้เป็นผลสำเร็จ

สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี

  • ที่ประชุมย้ำความสำคัญของการหารือระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ และระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือ ตลอดจนการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์

สถานการณ์ในรัฐยะไข่

  • ที่ประชุมยืนยันสนับสนุนเมียนมาในการดำเนินการตามรายงานประเมินความต้องการเบื้องต้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับของผู้พลัดถิ่นชาวโรฮีนจา
  • ไทยได้แจ้งการดำเนินการของไทยเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์และโครงการพัฒนาด้านสาธารณสุขแก่รัฐบาลเมียนมา รวมทั้งการสนับสนุนการฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้บุคลากรด้านสาธารณสุขในรัฐยะไข่

ทั้งนี้ไทยได้เสนอให้ที่ประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกพิจารณากลไกหารือวาระพิเศษเพื่อให้ประเทศมหาอำนาจได้หารือประเด็นความมั่นคงอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมาเพื่อแก้ไขปัญหาความหวาดระแวงและการเผชิญหน้าทางทหาร ซึ่งที่ผ่านมา กลไกหารือปกติยังไม่เพียงพอที่จะตอบสนองสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจในปัจจุบัน 5. ความสัมพันธ์กับภาคีภายนอกอาเซียน รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเห็นชอบให้สถานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาแก่สาธารณรัฐฝรั่งเศสและสาธารณรัฐอิตาลี และเห็นชอบให้สาธารณรัฐโคลอมเบียเข้าเป็นอัครภาคีสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ ไทยได้เป็นประธานร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-อินเดีย ซึ่งที่ประชุมได้ย้ำความสำคัญของการรักษาห่วงโซ่อุปทาน การเสริมสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาคผ่านโครงการถนนสามฝ่ายไทย-เมียนมา-อินเดีย และการส่งเสริมการค้า โดยฝ่ายอาเซียนย้ำความพร้อมที่จะให้อินเดียกลับมาเข้าร่วมในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค

เพื่อให้มีการนำผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 53 และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เช่น การจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลัง ค.ศ. 2025 การเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อรับมือกับโควิด-19 การยกระดับความร่วมมือทางดิจิทัล และการสร้างขีดความสามารถของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย จึงมีประเด็นที่ต้องมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม นำไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 ธันวาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ