คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้พิจารณาในประเด็นตามข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และให้รับความเห็นของกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ คค.รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
1. ขสมก. ได้ดำเนินการศึกษาโครงการพัฒนาการใช้พื้นที่เชิงธุรกิจ อู่มีนบุรีและอู่บางเขน เพื่อศึกษาวิเคราะห์และประเมินความต้องการใช้ประโยชน์ที่มีความสำคัญกับบริบทพื้นที่ ทั้งกายภาพ สังคม และเศรษฐกิจ เพื่อนำเสนอผังแม่บทในการใช้พื้นที่และทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปเป็นนโยบายและแผนการดำเนินการในการพัฒนาพื้นที่ สร้างมูลค่าเพิ่มแก่ ขสมก. และนำผลการศึกษาไปดำเนินการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 โดยสรุปได้ว่า
1.1 อู่มีนบุรี มีพื้นที่ 10 ไร่ มีราคาตลาดมูลค่า 347 ล้านบาท มีความเหมาะสมใน การพัฒนาเป็นอพาร์ตเม้นท์และตลาด ลักษณะการให้สิทธิเอกชนเข้าพัฒนาพื้นที่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
1.2 อู่บางเขน มีพื้นที่ 11 ไร่ 1 งาน 93 ตารางวา มีราคาตลาดมูลค่า 1,148.25 ล้านบาท มีความเหมาะสมในการพัฒนาโครงการประเภท ศูนย์การค้า โรงแรมลักษณะเปิดให้เอกชนประมูลเพื่อลงทุนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรม
ทั้งนี้ อำนาจในการจัดการทรัพย์สินของ ขสมก. เพื่อประโยชน์ในทางพาณิชย์และธุรกิจ เป็นไปตามมาตรา 7 แต่ไม่อยู่ในขอบวัตถุประสงค์ตามมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ. 2519 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น (นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ) ได้ให้ ขสมก. พิจารณาแนวทางเลือกที่สามารถดำเนินการได้ตามขอบเขตของพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว
2. คณะกรรมการบริหารกิจการ ขสมก. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อเพิ่มรายได้ให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ลดภาระกับภาครัฐ จำเป็นต้องพัฒนาพื้นที่ในเชิงธุรกิจตามแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. จึงเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ. 2519 นอกจากนี้ เพื่อการบริหารจัดการหนี้สิน และเกิดประโยชน์ในการชำระหนี้ได้ในระยะยาว จำเป็นต้องออกพันธบัตรเงินกู้ จึงเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 7 (7) แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงมีมติที่ประชุมครั้งที่ 6/2561 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2561 ให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ในส่วนของมาตรา 6 วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพและมาตรา 7 (7) ในส่วนของการออกพันธบัตรเงินกู้
3. ขสมก. ได้ดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกิจการ ขสมก. ตามข้อ 2. รวมทั้งได้หารือไปยังกระทรวงการคลัง (กค.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแล้ว ทั้งสองหน่วยงานไม่ขัดข้องในการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 6 และมาตรา 7 (7) แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ. 2519 ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (25 มิถุนายน 2562) เห็นชอบในหลักการแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ซึ่งรวมถึงการพัฒนาพื้นที่เชิงธุรกิจและการบริหารหนี้สินอันจะต้องดำเนินการด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ. 2519 คค. จึงได้ยกร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ขึ้นใหม่ เพื่อให้ ขสมก. สามารถดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ได้อย่างต่อเนื่องตามแผนฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งพัฒนาองค์กรให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สามารถเพิ่มรายได้และ ลดภาระให้กับภาครัฐ อันจะพัฒนาองค์กรไปสู่ความเป็นเลิศในด้านการบริการสาธารณะและสามารถก้าวเข้าสู่ การแข่งขันด้านบริการสาธารณะในสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ. 2519 ดังนี้
1. แก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง ขสมก. ให้สามารถประกอบการอื่นที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับการประกอบการขนส่งบุคคล หรือประกอบธุรกิจอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อ ขสมก. หรือประโยชน์สาธารณะได้
2. แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจการดำเนินกิจการ เพื่อประโยชน์แก่กิจการ ขสมก. ให้สามารถออกพันธบัตรเงินกู้หรือตราสารอื่นใด เพื่อการลงทุนหรือเพื่อประโยชน์แก่กิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพได้
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 ธันวาคม 2563