(ร่าง) แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด - 19 พ.ศ. 2564 – 2565 (ฉบับสมบูรณ์)

ข่าวการเมือง Tuesday December 8, 2020 18:47 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เสนอดังนี้

1. เห็นชอบ (ร่าง) แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด ? 19 พ.ศ. 2564 ? 2565 (แผนแม่บทเฉพาะกิจฯ) (ฉบับสมบูรณ์) เพื่อประกาศใช้ต่อไป

2. เห็นชอบแนวทางการดำเนินการขับเคลื่อน (ร่าง) แผนแม่บทเฉพาะกิจฯ (ฉบับสมบูรณ์) ตามที่ สศช. เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

สศช. รายงานว่า

1. คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนแม่บทเฉพาะกิจฯ (ฉบับสมบูรณ์) และมอบหมายให้ สศช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาตินำเสนอผลการพิจารณาของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติในส่วนของ (ร่าง) แผนแม่บทเฉพาะกิจฯ (ฉบับสมบูรณ์) ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป

2. (ร่าง) แผนแม่บทเฉพาะกิจฯ (ฉบับสมบูรณ์) ยังคงยึดหลักการ เป้าประสงค์มิติและประเด็นการพัฒนาตาม (ร่าง) แผนแม่บทเฉพาะกิจฯ (ฉบับปรับปรุง) แต่มีการปรับค่าเป้าหมาย ตัวชี้วัด และแนวทางการพัฒนาให้มีความสอดคล้องกับบริบทการพัฒนามากยิ่งขึ้น โดยสามารถสรุปสาระสำคัญของ (ร่าง) แผนแม่บทเฉพาะกิจฯ (ฉบับสมบูรณ์) ได้ ดังนี้

สาระสำคัญ / รายละเอียด

หลักการ ล้มแล้ว ลุกไว (Resilience)

เป้าประสงค์

เพื่อให้ ?คนสามารถยังชีพอยู่ได้ มีงานทำ กลุ่มเปราะบางได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง สร้างอาชีพและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เศรษฐกิจประเทศฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติ และมีการวางรากฐานเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ (Economic Transformation)?

3 มิติการพัฒนา

1. การพร้อมรับ (Cope) คือ ความสามารถในการบริหารจัดการภายใต้สภาวะวิกฤติให้สามารถยืนหยัดและต้านทานความยากลำบาก รวมถึงฟื้นคืนกลับสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว

2. การปรับตัว (Adapt) คือ การปรับทิศทาง รูปแบบ และแนวทางการพัฒนาให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงพร้อมกระจายความเสี่ยงและปรับตัวอย่างเท่าทันเพื่อแสวงหาประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้น

3. การเปลี่ยนแปลงเพื่อพร้อมเติบโตอย่างยั่งยืน (Transform) คือ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและปัจจัยพื้นฐานให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงเพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสสำหรับการพัฒนาประเทศต่อไป

โดย 3 มิติการพัฒนา จะทำให้ประเทศมีการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน ภายใต้หลัก 3 ขั้นการพัฒนา ได้แก่ survival (การอยู่รอด) Sufficiency (พอเพียง) และ Sustainability (ยั่งยืน)

4 ประเด็นการพัฒนา

โดยเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษในระยะ 2 ปีข้างหน้า ได้แก่

1. การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ (Local Economy) เพื่อลดความเสี่ยงในการพึ่งพาต่างประเทศ

2. การยกระดับขีดความสามารถของประเทศเพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว (Future Growth) เพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมและบริการที่ประเทศไทยมีโอกาส และมีศักยภาพภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงและบริบทโลกใหม่ที่ปรับเปลี่ยนไป

3. การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ (Human Capital) เพื่อการยกระดับและปรับทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและโครงสร้างเศรษฐกิจที่ปรับเปลี่ยนไป พร้อมทั้งเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤต

4. การปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ (Enabling Factors) ให้สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลกระทบต่อศักยภาพของประเทศ

แนวทางการพัฒนา

มีความสอดคล้องกับข้อเสนอเชิงนโยบายและข้อเสนอการดำเนินการจากองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่

1. รายงาน Consolidated Socio-Economic Impact Assessment of COVID ? 19 in Thailand ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme : UNDP)

2. รายงาน Navigating COViD - 19 in Asia and the Pacific ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB)

3. Thailand Economic Monitor: Thailand in the Time of COVID - 19 ของธนาคารโลก (World Bank)

3. สศช. ได้เสนอแนวทางการดำเนินการขับเคลื่อน (ร่าง) แผนแม่บทเฉพาะกิจฯ (ฉบับสมบูรณ์) ไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้สามารถดำเนินการบูรณาการได้และสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่งผลให้การบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 เป็นไปได้อย่างต่อเนื่องและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้

3.1 ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องใช้แผนแม่บทเฉพาะกิจฯ (ฉบับสมบูรณ์)เป็นกรอบในการจัดทำโครงการ/การดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2565 เพิ่มเติมจากโครงการสำคัญประจำปีงบประมาณ 2565 จำนวน 250 โครงการ ที่เป็นโครงการที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ (Top Priorities) ภายใต้แผนแม่บทเฉพาะกิจฯ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 ให้ทันต่อคำของบประมาณประจำปี 2565 ต่อไป

3.2 ให้สำนักงบประมาณใช้แผนแม่บทเฉพาะกิจฯ (ฉบับสมบูรณ์) เป็นกรอบในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณของโครงการประจำปีงบประมาณ 2565 ร่วมกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 23 ประเด็น ในปัจจุบัน

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 ธันวาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ