คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณฯ พ.ศ. 2565) ตามที่สำนักงบประมาณ (สงป.) เสนอ
1.1 กำหนดโครงสร้างยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณฯ พ.ศ. 2565 ตามยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ ประกอบด้วย รายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง และรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย (ตามข้อ 2.)
1.2 นำเป้าหมายและตัวชี้วัดของยุทธศาสตร์ชาติ และเป้าหมายและตัวชี้วัดของแผนแม่บทฯ มากำหนดไว้ภายใต้ยุทธศาสตร์ในแต่ละด้าน เพื่อแสดงให้เห็นเป้าหมายและตัวชี้วัดของแผนในแต่ละระดับที่สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างเป็นรูปธรรม
1.3 นำแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ 4 ประเด็น แผนย่อยภายใต้แผนแม่บทฯ 23 แผน จำนวน 85 ประเด็น และแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) 13 ด้าน มากำหนดเป็นประเด็นยุทธศาสตร์ภายใต้ยุทธศาสตร์แต่ละด้าน พร้อมทั้งนำเป้าหมายและตัวชี้วัดของแผนดังกล่าวมากำหนดไว้ภายใต้แต่ละประเด็นยุทธศาสตร์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงเป้าหมายที่ต้องการบรรลุในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และตัวชี้วัดที่สามารถติดตามผลได้
1.4 นำแนวทางและประเด็นการพัฒนาภายใต้แผนแม่บทเฉพาะกิจฯ แผนย่อยภายใต้แผนแม่บทฯ และแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) มากำหนดเป็นนโยบายการจัดสรรงบประมาณ เพื่อเป็นกรอบแนวทางให้หน่วยรับงบประมาณจัดทำโครงการรองรับประเด็นดังกล่าว และเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ต่อไป 2. โครงสร้างของยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณฯ พ.ศ. 2565 ประกอบด้วย
2.1 ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ จำนวน 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
(1) ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง
(2) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน
(3) ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
(4) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม
(5) ยุทธศสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
(6) ยุทธศาตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
2.2 รายการค่าดำเนินการภาครัฐ ประกอบด้วย รายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง และรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 ธันวาคม 2563