เรื่อง รายงานผลการดำเนินการตามติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 เกี่ยวกับการจัดทำแผนบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤต (Business Continuity Plan : BCP) ของหน่วยงานของรัฐ และแนวทางการยกระดับประสิทธิภาพการบริการภาครัฐ
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 เกี่ยวกับการจัดทำแผนบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤต (Business Continuity Plan : BCP) ของหน่วยงานของรัฐ และเห็นชอบแนวทางการยกระดับประสิทธิภาพการบริการภาครัฐตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ
1.1 สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤต และการจัดทำแผน BCP โดยจัดทำ (1) คู่มือการบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤต (2) แนวทางการทบทวนและปรับปรุงแผน BCP (3) คลิปวีดิโอแนวทางการจัดทำแผน BCP และ (4) แบบฟอร์มแนะนำสำหรับการทำแผน ทั้งนี้ ได้เผยแพร่บนเว็บไซต์สำนักงาน ก.พ.ร. เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่หน่วยงานภาครัฐในการจัดทำแผน BCP
1.2 ร่วมกับกรมสรรพากร สำนักงานจังหวัดนครปฐม สำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐม และเทศบาลเมืองกระทุ่มล้ม อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ในการจัดทำแผนตัวอย่างเพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ใช้ในการศึกษาประกอบการจัดทำแผนของหน่วยงาน โดยมีแผนตัวอย่าง 4 ประเภทหน่วยงาน ได้แก่ (1) ส่วนราชการที่มีภารกิจด้านการให้บริการประชาชน (กรมสรรพากร) (2) ส่วนราชการที่มีภารกิจด้านการอำนวยการบริหารงานภาครัฐ (สำนักงาน ก.พ.ร) (3) ส่วนราชการส่วนภูมิภาค (สำนักงานจังหวัดนครปฐมและสำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐม) และ (4) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) (เทศบาลเมืองกระทุ่มล้ม)
1.3 เปิดช่องทางการติดต่อสื่อสารแนะนำการจัดทำแผน BCP ทางแอปพลิเคชัน LINE @opdcteam ขณะนี้มีผู้ติดตาม LINE จำนวน 2,741 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2563)
1.4 จัดประชุมชี้แจงแนวทางการจัดทำแผน BCP ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์แก่ส่วนราชการระดับกรม เมื่อวันที่ 8 - 9 มิถุนายน 2563 ส่วนราชการส่วนภูมิภาค เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563 และ อปท. เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563 2. การจัดทำแผน BCP ของหน่วยงานของรัฐ
2.1 การทบทวนและปรับปรุงแผน BCP ของหน่วยงานของรัฐ ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2563 มีหน่วยงานของรัฐจัดทำแผน BCP แล้ว 3,616 หน่วยงาน (คิดเป็นร้อยละ 43.66) จากจำนวนหน่วยงานทั้งหมดที่ต้องจัดทำแผน 8,281 หน่วยงาน โดยมีการวิเคราะห์ภาพรวมของแผนที่แสดงถึงความเชื่อมโยงระหว่างพันธกิจ กระบวนการหลักที่สำคัญ การนำระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารงานและให้บริการประชาชน รวมถึงกำหนดกลยุทธ์ความต่อเนื่องที่สำคัญ กรณีหน่วยงานที่อยู่ระหว่างการจัดทำและยังไม่ได้จัดส่งแผน BCP สำนักงาน ก.พ.ร. จะได้ติดตามให้หน่วยงานดังกล่าวจัดทำแผนให้แล้วเสร็จต่อไป นอกจากนี้ แผน BCP ยังรองรับสถานการณ์อื่น ๆ ด้วย ดังนี้
แผนรองรับสถานการณ์ / ร้อยละ
COVID19/โรคระบาดต่อเนื่อง 96.97
อัคคีภัย 98.10
อุทกภัย 95.33
ชุมนุมประท้วง/จราจล 84.97
ไฟฟ้าดับวงกว้าง 60.33
ก่อการร้าย 34.71
แผ่นดินไหว 31.24
คุกคามทางไซเบอร์ 25.90
ทั้งนี้ ในสถานการณ์การคุกคามทางไซเบอร์ หน่วยงานได้จัดทำแนวปฏิบัติด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินต่อระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Contingency Plan) ตามแนวทางของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) อยู่แล้วนอกจากนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ร่วมสนับสนุน ดศ. ในการจัดทำแผน BCP ด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้วย เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับเหตุวิกฤตที่กระทบต่อระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศและภัยคุกคามทางไซเบอร์
2.2 การดำเนินการของหน่วยงานของรัฐในประเด็นที่คณะรัฐมนตรีให้ความสำคัญ (ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563)
2.2.1 การนำระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) รวมทั้งเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารงานและให้บริการประชาชน จากสถานการณ์ COVID-19 หน่วยงานของรัฐได้เห็นถึงความสำคัญของการนำระบบ e-Service และเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารงานและให้บริการประชาชน ทั้งระบบที่มีอยู่ในปัจจุบันอยู่แล้ว รวมถึงมีแผนที่จะพัฒนากระบวนการปฏิบัติงานในระยะต่อไป เช่น การจองทะเบียนรถผ่านแอปพลิเคชัน (กรมการขนส่งทางบก) การรักษาผู้ป่วยผ่านระบบ AI (กรมการแพทย์) การพัฒนาระบบ Educational Data Center: EDC (กระทรวงศึกษาธิการ) (ศธ.) และระบบการจัดเก็บและสืบค้นข้อมูลคนหาย คนนิรนามและศพนิรนาม (สถาบันนิติวิทยาศาสตร์) ทั้งนี้ หน่วยงานได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบช่องทางการรับบริการออนไลน์เพื่อทดแทนการเดินทางมาติดต่อราชการด้วยตนเองในส่วนของส่วนราชการส่วนภูมิภาคและ อปท. ได้ให้บริการประชาชนผ่านระบบของส่วนกลาง 2.2.2 การให้บริการโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต หน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวกับการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในด้านต่าง ๆ ได้ทบทวนและปรับปรุงแผน BCP เรียบร้อยแล้ว ซึ่งได้ให้ความสำคัญต่อการให้บริการประชาชนโดยไม่ให้เกิดการหยุดชะงัก โดยกำหนดกลยุทธ์ความต่อเนื่องและวิธีการต่าง ๆ ไว้แล้ว เช่น
ด้านไฟฟ้า
การดำเนินการ
การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีแผนที่รองรับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้มั่นใจได้ว่าหากเกิดสภาวะวิกฤตที่ทำให้การจ่ายกระแสไฟฟ้าหยุดชะงักจะสามารถจ่ายไฟคืนได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ภายใน 3 ชั่วโมง และไม่น้อยกว่าร้อยละ 100 ภายใน 24 ชั่วโมง (หรือจะหยุดชะงักไม่เกิน 1 วัน) นอกจากนี้ได้ใช้ระบบเทคโนโลยีในการควบคุมการผลิตและจ่ายไฟฟ้าจากส่วนกลางได้เต็มทั้งระบบ ตลอดจนมีระบบสำรองในการควบคุมในกรณีที่ระบบแรกไม่สามารถใช้การได้ มีระบบที่ควบคุมและสั่งการโดยเจ้าหน้าที่กรณีระบบหลักและระบบสำรองล้มเหลว รวมทั้งมีแผนการหมุนเวียนหรือทดแทนบุคลากรเมื่อเกิดสภาวะวิกฤต
ด้านโทรคมนาคม
การดำเนินการ
หน่วยงานของรัฐส่วนใหญ่ใช้บริการอินเทอร์เน็ตจากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งสามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่หน่วยงานของรัฐได้อย่างต่อเนื่อง โดยหยุดชะงักไม่เกิน 4 ชั่วโมง เร็วกว่ามาตรฐานของคุณภาพบริการโทรคมนาคมที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กำหนดให้ไม่นานกว่า 24 ชั่วโมง โดยมีระบบที่ครอบคลุมทั้งระบบการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้รับบริการและระบบงานภายในองค์กร มีแหล่งข้อมูลสำรองทุกระบบ มีการจัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นไว้ในรูปแบบทรัพยากรร่วมของหน่วยงาน รวมทั้งกำหนดขั้นตอนและหน้าที่ความรับผิดชอบในการดำเนินการเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินไว้อย่างชัดเจน 3. แนวทางการยกระดับประสิทธิภาพการบริการภาครัฐ
สำนักงาน ก.พ.ร. ได้กำหนดแนวทางการยกระดับประสิทธิภาพการบริการภาครัฐที่มีเป้าหมายให้ประชาชนได้รับบริการภาครัฐอย่างต่อเนื่องแม้ในสภาวะวิกฤตสามารถใช้บริการแบบเบ็ดเสร็จผ่าน e-Service ภาครัฐ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปติดต่อ ณ สถานที่ราชการด้วยตนเอง ในขณะเดียวกันหน่วยงานของรัฐทุกแห่งต้องมีความพร้อมในการดำเนินภารกิจอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
3.1 การนำระบบบริการแบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) รวมทั้งเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารงานและให้บริการแก่ประชาชน
การพัฒนา e-Service ภาครัฐ
ให้หน่วยงานของรัฐเร่งรัดการพัฒนางานบริการแบบเบ็ดเสร็จ โดยนำ e-Service มาเป็นทางเลือกให้ประชาชนใช้แทนการเดินทางไปติดต่อราชการเอง ณ หน่วยงาน
โดยเฉพาะงานที่มีปริมาณการขอรับบริการเป็นจำนวนมาก งานที่ต้องมีการรอคิวรับบริการ ณ หน่วยงาน งานที่มีผลทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น หรือสนับสนุนช่วยเหลือให้ภาคเศรษฐกิจและสังคมที่ประสบปัญหาในสถานการณ์ COVID-19 ฟื้นตัวได้รวดเร็วและยั่งยืนยิ่งขึ้น รวมถึงงานที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ทั้งนี้ ให้ทุกหน่วยงานประชาสัมพันธ์ e-Service ของหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับนำความเห็นของประชาชนหลังใช้บริการมาปรับปรุงให้ตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง รวมทั้งพิจารณาให้สามารถขยายเวลาการให้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง
การแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค
ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) และสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) ร่วมกับหน่วยงานของรัฐต่าง ๆ ในการเร่งรัดแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบ e-Service
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศ
ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น ดศ. สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (องค์กรมหาชน) เร่งรัดการส่งเสริมและให้การสนับสนุนหน่วยงานในการพัฒนาระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ให้มีประสิทธิภาพและมาตรฐาน บริการโทรคมนาคมมีความเร็วและความเสถียรเพียงพอ มีการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูล ควบคู่ไปกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลสำคัญของประเทศ เพื่อให้ระบบบริการในรูปแบบ e-Service มีความสมบูรณ์ สามารถให้บริการได้อย่างเบ็ดเสร็จตั้งแต่ยื่นเรื่องจนได้รับเอกสารการอนุมัติ
การขับเคลื่อนการให้บริการประชาชนผ่าน e-Service ภาครัฐ
ให้สำนักงาน ก.พ.ร. เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการให้บริการประชาชน
ผ่าน e-Service ภาครัฐ โดยกำหนดกรอบแนวทางในการพัฒนางานบริการภาครัฐให้เป็น e-Service ยกระดับระบบที่มีอยู่ให้สามารถบริการออนไลน์ได้อย่างครบวงจร ประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงบประมาณ (สงป.) กรมบัญชีกลาง พิจารณากำหนดแนวทางการสร้างแรงจูงใจแก่หน่วยงานของรัฐในการเร่งพัฒนาการให้บริการประชาชนผ่าน e-Service
3.2 การส่งเสริมการบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤตในระยะต่อไปแก่หน่วยงานของรัฐ
การสร้างองค์ความรู้ในการบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤต
ให้สำนักงาน ก.พ.ร. เสริมสร้างองค์ความรู้และส่งเสริมการบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤตของหน่วยงานของรัฐเพื่อยกระดับการดำเนินการ โดยเตรียมความพร้อมแบบองค์รวมตั้งแต่การบริหารจัดการ การทำความเข้าใจองค์กร การกำหนดกลยุทธ์ การจัดทำแผนและนำไปปฏิบัติ การทดสอบ ปรับปรุง ทบทวนแผน และการปลูกฝังให้ดำเนินการบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤตเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารองค์กรเพื่อยกระดับความพร้อมของภาครัฐในการรับมือกับสภาวะวิกฤตต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้แผนและการดำเนินการตามแผน BCP ของภาครัฐมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
การพัฒนาคุณภาพของ BCP
ให้หน่วยงานของรัฐทบทวน ทดสอบ ซักซ้อม และปรับปรุงแผนเป็นประจำทุกปีเพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุ รวมทั้งให้พิจารณาจัดทำแผนจำแนกตามสถานการณ์ตามบริบทขององค์กรและพื้นที่ มีการบูรณาการทรัพยากรระหว่างหน่วยงานที่มีทรัพยากรประเภทเดียวกัน หน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่/อาคารเดียวกัน และให้สำนักงาน ก.พ.ร. ติดตามการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แผน BCP ของหน่วยงานมีความครบถ้วนสมบูรณ์และทันต่อสถานการณ์
การขยายผลสู่หน่วยงานในพื้นที่
ให้หน่วยงานของรัฐและ อปท. ที่มีหน่วยงานในสังกัดอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ส่งเสริมและติดตามให้หน่วยงานในสังกัด เช่น อำเภอ โรงเรียน โรงพยาบาล จัดทำแผน BCP เพื่อให้มั่นใจได้ว่าหน่วยงานของรัฐทุกแห่งทุกระดับมีความพร้อมต่อการให้บริการอย่างต่อเนื่องในสภาวะวิกฤต ทั้งนี้ กรมการแพทย์อยู่ระหว่างการส่งเสริมโรงพยาบาลในสังกัดจัดทำแผน BCP ต้นแบบ เพื่อจะขยายผลให้โรงพยาบาลอื่น ๆ ดำเนินการต่อไป โดยสำนักงาน ก.พ.ร. ได้ร่วมในการส่งเสริมองค์ความรู้และติดตามการดำเนินการดังกล่าวด้วย
การสนับสนุนการจัดหาทรัพยากรในสภาวะวิกฤต
ให้ สงป. กระทรวงการคลัง (กค.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาความเป็นไปได้ในการกำหนดแนวทางการสนับสนุนหน่วยงานของรัฐให้สามารถจัดหาทรัพยากรในสภาวะวิกฤตได้ตามที่กำหนดไว้ในแผน BCP เช่น การจัดเตรียมงบประมาณสำรองเพื่อใช้ในการบริหารจัดการและจัดซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับดำเนินภารกิจสำคัญหรือภารกิจในการบริการประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แผน BCP มีประสิทธิภาพ สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงเมื่อเกิดเหตุวิกฤต
การจัดทำแผน BCP เฉพาะด้าน
ให้สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดทำแผน BCP เฉพาะด้าน เพื่อรองรับสถานการณ์ที่สำคัญ เช่น ร่วมกับ ดศ. และสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ในการจัดทำแผน BCP ด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศ หรือกรอบแนวทางในการจัดทำแผน BCP ด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐได้นำไปปรับปรุงแผน BCP ของตนเองต่อไป
ทั้งนี้ ให้สำนักงาน ก.พ.ร. เร่งรัด ติดตาม และประสานงานกับหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการตามแนวทางการยกระดับประสิทธิภาพการบริการภาครัฐ และรายงานให้สำนักงาน ก.พ.ร. ทราบเป็นระยะ
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 ธันวาคม 2563