2.1 ด้านนโยบายการเงิน
2.1.1 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น โดยคณะรัฐมนตรีมีมติ (24 ธันวาคม 2562) อนุมัติให้ใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1 ? 3 เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินใหม่สำหรับระยะปานกลางและสำหรับปี 2563 ซึ่งเหมาะสมกับพลวัตเงินเฟ้อไทยที่มีแนวโน้มต่ำลง และการเปลี่ยนรูปแบบเป้าหมายเป็นช่วงช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจโลกและไทยผันผวนและมีความไม่แน่นอนสูง
2.1.2 กนง. ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 3 ครั้ง จากร้อยละ 1.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี ซึ่งต่ำเป็นประวัติการณ์ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการระบาดของโรค COVID-19 คลี่คลายและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมาย นอกจากนี้ ธปท. ยังได้ปรับลดอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จากร้อยละ 0.46 เหลือร้อยละ 0.23 ของฐานเงินฝากเป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้สถาบันการเงินปรับลดอัตราเงินกู้อ้างอิงเพิ่มเติมซึ่งจะช่วยบรรเทาภาวะหนี้ของประชาชนและภาคธุรกิจได้อีกทางหนึ่ง
2.1.3 กนง. ให้ความสำคัญกับการติดตามและดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวนเกินไปจนกระทบการปรับตัวของภาคธุรกิจ โดยเห็นควรติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมทั้งผลของมาตรการผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้ายขาออกที่ได้ดำเนินการไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 และการประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม
2.2 ด้านนโยบายสถาบันการเงิน
2.2.1 คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ให้ความสำคัญกับประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
(1) การเพิ่มประสิทธิภาพบริการทางการเงิน การสนับสนุนการธนาคารเพื่อความยั่งยืน และการผลักดันความเชื่อมโยงทางการเงินในภูมิภาคและโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน เช่น โครงการ MyPromptQR ให้ร้านค้าสามารถรับเงินด้วยการแสกน QR code และการทดสอบนวัตกรรมการเงินใหม่ ๆ ใน Regulatory Sandbox และ Own Sandbox
(2) การปรับปรุงนโยบายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินให้สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที โดยเฉพาะการออกมาตรการในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เช่น การกำหนดมาตรการขั้นต่ำในการช่วยเหลือลูกหนี้ การออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจและการผ่อนผันการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ด้านสภาพคล่องให้แก่สถาบันการเงิน
(3) การผลักดันและปรับปรุงนโยบายเพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินและความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การยกระดับการกำกับดูแลด้าน IT Risk Management และ Cyber Resilience ให้มีความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ และการจัดทำแนวนโยบายการให้สินเชื่อในลักษณะดิจิทัลเพื่อส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น
2.2.2 การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม โดยการติดตามและประเมินความเสี่ยงที่สำคัญ เช่น แนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และการให้ความเห็นต่อการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลความเสี่ยงเพื่อรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน เช่น การดูแลไม่ให้เกิดการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์จนเกินไป
2.2.3 ผลการดำเนินการของระบบธนาคารพาณิชย์และระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institution: SFIs)
(1) ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคง เงินกองทุนและเงินสำรองอยู่ในระดับสูง แต่ผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ปรับตัวลดลงจากการกันสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับคุณภาพสินเชื่อที่อาจด้อยลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ด้านการเติบโตของสินเชื่อ ระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวจากการใช้สินเชื่อของภาครัฐและธุรกิจขนาดใหญ่แต่คุณภาพสินเชื่อด้อยลงจากการหดตัวของเศรษฐกิจ
(2) ระบบ SFIs มีเงินกองทุนโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับเพียงพอที่จะรองรับการขยายสินเชื่อในระยะต่อไปได้ ทั้งนี้ สินเชื่อของระบบ SFIs มีการชะลอตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมลดลงจากไตรมาสก่อนซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19
2.3 ด้านนโยบายระบบการชำระเงิน
2.3.1 โครงการระบบพร้อมเพย์ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 มียอดการลงทะเบียนใช้บริการจำนวน 55.1 ล้านหมายเลข ปริมาณโอนเงินเฉลี่ยต่อวัน 14.5 ล้านรายการหรือคิดเป็นมูลค่า 56.2 พันล้านบาท อีกทั้งยังทำสถิติการใช้งานสูงสุดใหม่ถึง 20.2 ล้านรายการต่อวัน
2.3.2 การดำเนินการตามกรอบการพัฒนา 5 ด้านของแผนกลยุทธ์ ระบบการชำระเงิน ฉบับที่ 5
(1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่เชื่อมโยงกัน โดยส่งเสริมการใช้ ISO 20022 ในการจัดทำมาตรฐานข้อความการชำระเงินของระบบพร้อมเพย์ ระบบ Bulk payment และระบบบาทเนต ให้สามารถใช้งานร่วมกันระหว่างระบบได้ รวมทั้งผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินดิจิทัลที่ต่อยอดการใช้ ISO 20022 ในการเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลทางดิจิทัลอื่น เช่น ข้อมูลใบแจ้งหนี้ เพื่อส่งเสริม e-Business อย่างครบวงจร
(2) การส่งเสริมนวัตกรรมและบริการชำระเงิน โดยผลักดันการพัฒนาบริการชำระเงินหรือโอนเงินระหว่างประเทศด้วยเทคโนโลยีและช่องทางใหม่กับประเทศต่าง ๆ ผ่านความร่วมมือทั้งในระดับธนาคารกลางและธนาคารพาณิชย์ เช่น การเชื่อมโยงระบบโอนเงินรายย่อยระหว่างประเทศและการเชื่อมโยงระบบโอนเงินรายย่อยแบบเรียลไทม์ เช่น โครงการเชื่อมโยง PromptPay ของไทย และ PayNow ของสิงคโปร์ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2564
(3) การส่งเสริมการเข้าถึงและการใช้บริการชำระเงิน เช่น การเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตให้เป็นแบบชิปการ์ดเพื่อให้มีความปลอดภัยมากขึ้น การผลักดันการขยายการใช้ digital payment ในหน่วยงานภาครัฐ และการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และส่งเสริมการใช้ digital payment อย่างแพร่หลาย
(4) การกำกับดูแลและการบริหารความเสี่ยง มีการจัดทำประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องภายใต้พระราชบัญญัติระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560 ซึ่งประกอบด้วยหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจบริการโอนเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์และหลักเกณฑ์การรู้จักลูกค้าสำหรับการเปิดใช้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์
(5) การพัฒนาข้อมูลชำระเงิน อยู่ระหว่างพัฒนาเครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์และติดตามความเสี่ยงของผู้ให้บริการ e-Payment รวมทั้งจัดทำเครื่องมือและตัวชี้วัดในการติดตามทิศทางการชำระเงินรายย่อย จัดทำสถิติข้อมูลการชำระเงินเพื่อใช้รายงานภาพรวมธุรกรรมการชำระเงินต่อผู้บริหารโดยเผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบ infographic ผ่านเว็บไซต์และช่องทางออนไลน์ของ ธปท. และศึกษาแนวทางการบูรณาการข้อมูลการชำระเงินร่วมกับผู้ให้บริการ e-Payment
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 ธันวาคม 2563