การเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ครั้งที่ 19 ในประเทศไทย พ.ศ. 2566

ข่าวการเมือง Tuesday December 8, 2020 18:59 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบการเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ครั้งที่ 19 ในประเทศไทย พ.ศ. 2566 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ สรุปได้ดังนี้
1. การแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จะจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนธันวาคมของทุกปี โดยในแต่ละปีมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) ได้ส่งผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันตั้งแต่ปีแรกที่มีการจัดการแข่งขัน (พ.ศ. 2547) จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 16 ปี
2. ในปี 2566 ประเทศไทยได้รับเชิญให้เป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ครั้งที่ 19 โดย สอวน. (ซึ่งมีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นประธานมูลนิธิ) ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศธ. และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จะร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ทั้งนี้ งานดังกล่าวจะจัดขึ้นในเดือนธันวาคม 2566 ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1) วัตถุประสงค์

  • เฉลิมพระเกียรติ 100 พรรษา ชาตกาล ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
  • กระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศด้านวิชาการและการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตร ระบบการเรียนการสอน และการวิจัย ที่จะช่วยในการพัฒนาค วามก้าวหน้าทางวิชาการของประเทศ
  • ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้แสดงความสามารถด้านปัญญา และพัฒนาศักยภาพของตนเองให้สูงขึ้นทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ

2) หน่วยงานเจ้าของโครงการ

สอวน. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศธ. และ สสวท.

3) ระยะเวลาโครงการ

ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ? 2567

4) ผู้เข้าร่วม

คาดว่าจะมีผู้เข้าแข่งขันประมาณ 60 ประเทศ ประเทศละ 6 คน อาจารย์ผู้ควบคุมดูแล ประเทศละ 3 คน และมีประเทศเข้าร่วมสังเกตการณ์จำนวนหนึ่ง รวมผู้เข้าร่วมประมาณ 600 คน

5) การติดตามและ

สรุปผลของโครงการ

มีการประเมินทุกขั้นตอนตลอดการดำเนินโครงการ เพื่อนำผลมาใช้ในการปรับปรุงการดำเนินงานได้อย่างทันท่วงที และประเมินขั้นสุดท้ายเพื่อทราบผลสัมฤทธิ์ของโครงการ

6) ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  • กระตุ้นให้มีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นของไทยให้มีมาตรฐานสูงขึ้นและมีความทันสมัย
  • เยาวชนของไทยมีความสนใจและตระหนักถึงความสำคัญของวิชาวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เพิ่มมากขึ้นและได้มีโอกาสแสดงความสามารถให้เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ
  • ครูและเยาวชนของไทยได้รับประสบการณ์ มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับครูและเยาวชนจากนานาชาติ
  • นานาประเทศยอมรับความสามารถของนักวิชาการไทยมากยิ่งขึ้น
  • เผยแพร่ชื่อเสียงของประเทศและเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยอีกทางหนึ่ง

6) งบประมาณ

ประมาณ 79,229,450 บาท (จากงบประมาณประจำปีของ สอวน. รวมทั้งการสนับสนุนของภาครัฐและเอกชน)

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 ธันวาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ