สหรัฐอเมริกาประกาศระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) สินค้าไทย 231 รายการ ด้วยเหตุผลประเด็นการเปิดตลาดสินค้าสุกรและผลิตภัณฑ์จากสหรัฐฯ

ข่าวการเมือง Tuesday December 8, 2020 19:23 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง สหรัฐอเมริกาประกาศระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) สินค้าไทย 231 รายการ ด้วยเหตุผลประเด็นการเปิดตลาดสินค้าสุกรและผลิตภัณฑ์จากสหรัฐฯ มีผลวันที่ 30 ธันวาคม 2563

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบเรื่อง สหรัฐอเมริกาประกาศระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences: GSP) สินค้าไทย 231 รายการ ด้วยเหตุผลประเด็นการเปิดตลาดสินค้าสุกรและผลิตภัณฑ์จากสหรัฐฯ มีผลวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้
1. การประกาศระงับสิทธิ GSP สหรัฐฯ ได้มีการประกาศระงับสิทธิ GSP สินค้าไทย จำนวน 573 รายการ จากผลการประเมินคุณสมบัติประเทศไทยในประเด็นการคุ้มครองสิทธิแรงงาน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2563 ต่อมาเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีประกาศแจ้งผลการประเมินคุณสมบัติของประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP ของสหรัฐฯ ในการพิจารณาแบบรายประเทศ โดยสหรัฐฯ ได้ประกาศระงับสิทธิ GSP สินค้าไทย รวม 231 รายการ ด้วยเหตุผลในประเด็นการเปิดตลาดสินค้าสุกรและผลิตภัณฑ์ของไทยที่ไม่อยู่ในระดับที่ เท่าเทียมและสมเหตุสมผล ซึ่งประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2533 เป็นต้นไป
2. สาเหตุของการประกาศระงับสิทธิ GSP สินค้าไทย 231 รายการ ตามข้อ 1 เนื่องจากไทยห้ามนำเข้าเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์จากสหรัฐฯ ที่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง (แรคโตพามีน) ในระบบการเลี้ยง โดยสหรัฐฯ เรียกร้องให้ไทยแก้ไขกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ค่าการตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limits:MRLs) ของสารเร่งเนื้อแดงในเนื้อสัตว์ตามมาตรฐานของคณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหาร (Codex) ในการพิจารณาการประเมินความเสี่ยงสำหรับการเปิดตลาดเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์จากสหรัฐฯ

ทั้งนี้ คณะผู้แทนไทยนำโดยรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายพิศาล พงศาพิชญ์) ได้เข้าร่วมการเปิดรับฟังความคิดเห็นของคณะอนุกรรมาธิการ GSP ณ สำนักงาน United States Trade Representative (USTR) กรุงวอชิงตัน ดีซี เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 เพื่อชี้แจงความคืบหน้าในการพิจารณาเปิดตลาดให้กับสินค้าสุกรและผลิตภัณฑ์นำเข้าจากสหรัฐฯ ที่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดงในระบบการเลี้ยง สรุปข้อชี้แจงได้ดังนี้

2.1 ไทยได้หารือและทำงานร่วมกับฝ่ายสหรัฐฯ มาอย่างต่อเนื่องในกระบวนการประเมินความเสี่ยงจากการตกค้างของสารเร่งเนื้อแดง ซึ่งมีความคืบหน้ามาเป็นลำดับ โดยอยู่ในระหว่างการดำเนินขั้นตอนที่ 4 จากทั้งหมด 9 ขั้นตอน คือ หน่วยงานสัตวแพทย์ของประเทศผู้ส่งออกจัดส่งแบบสอบถามให้กรมปศุสัตว์พิจารณาและให้ความคิดเห็น

2.2 ไทยยังไม่รับรองค่าการตกค้างสูงสุดตามมาตรฐานที่ Codex ให้การรับรอง เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยจะบริโภคทั้งเนื้อสุกรและเครื่องในสุกร ซึ่งเป็นส่วนที่มีการตกค้างของสารเร่งเนื้อแดงในระดับสูง ดังนั้น การประเมินความเสี่ยงของไทยจึงครอบคลุมทุกชิ้นส่วนเนื้อเยื่อสุกร ในขณะที่มาตรฐานของ Codex ครอบคลุมเพียง 4 เนื้อเยื่อ (กล้ามเนื้อ ไขมัน ตับ และไต)

2.3 ไทยได้เน้นย้ำเกี่ยวกับการให้ความสำคัญเรื่องการปกป้องความปลอดภัยและสุขภาพของผู้บริโภคและยึดหลักการว่ามาตรฐานที่ใช้กับสินค้านำเข้าจะต้องสอดคล้องกับสินค้าภายในประเทศ หากไทยเปิดตลาดให้สินค้าสุกรที่มีสารเร่งเนื้อแดงจากต่างประเทศในขณะที่ยังห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในประเทศจะไม่เป็นธรรมต่อผู้ผลิตในประเทศ 3. ผลกระทบจากการถูกระงับสิทธิ GSP

สินค้า 231 รายการ ที่สหรัฐฯ ประกาศระงับสิทธิ GSP มีการส่งออกโดยใช้สิทธิ GSP จริงเพียง 157 รายการ คิดเป็นมูลค่าการใช้สิทธิฯ 601.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการระงับสิทธิดังกล่าวมีผลให้ผู้นำเข้าสหรัฐฯ จะต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราภาษีปกติ (MFN Rate) เฉลี่ยร้อยละ 3-4 จากเดิมที่ได้รับการยกเว้นเป็นร้อยละ 0 คิดเป็นมูลค่าต้นทุนภาษีที่ต้องเสียเพิ่มประมาณ 18.80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 600 ล้านบาท) โดยรายการสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบได้พิจารณาจาก 2 มิติ คือ 1) สัดส่วนการใช้สิทธิ GSP และ 2) ระดับอัตราภาษี MFN ที่ต้องชำระ ซึ่งรายการสินค้าที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบปานกลาง-สูง เช่น อุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ กรอบและโครงสร้างแว่นตาทำด้วยพลาสติก เคมีภัณฑ์ ปิโตรเลียมเรซิน เกลือฟลูออรีน และเครื่องนอนที่ทำจากยางหรือพลาสติก ทั้งนี้ จากการประกาศระงับสิทธิฯ สินค้าทั้ง 231 รายการดังกล่าว ทำให้ไทยมีสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ คงเหลือ 2,660 รายการ เป็นสินค้าที่มีการใช้สิทธิฯ จริง 645 รายการ มูลค่าการใช้สิทธิฯ ประมาณ 2,622 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 4. มาตรการรองรับผลกระทบ

c4.1 การหารือกับฝ่ายสหรัฐ เพื่อหาทางออกร่วมกันในทุกช่องทาง เช่น การประชุม คณะมนตรีภายใต้กรอบ Trade and Investment Framework Agreement (TIFA) การหารือระหว่าง USTR กับผู้แทนฝ่ายไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี

4.2 การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างหลากหลาย เช่น Online Business Matching สำหรับสินค้าที่มีความต้องการในตลาดสหรัฐฯ และตลาดใหม่ การส่งเสริมสินค้าไทยเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยใช้ช่องทาง Cross border e-Commerce เข้าถึงผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ และตลาดใหม่โดยตรง

4.3 การประสานและหารือกับภาคเอกชน เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามผลกระทบที่ภาคเอกชนอาจจะได้รับจากการถูกระงับสิทธิอย่างใกล้ชิด

4.4 การจัดทำคลินิกให้คำปรึกษาและจัดสัมมนาให้ความรู้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบเพื่อเพิ่มความสามารถในการปรับตัว รวมถึงให้คำปรึกษาผ่านช่องทางไลน์แอปพลิเคชันชื่อบัญชี ?@gsp_helper?

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 ธันวาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ