เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจชั่งตวงวัดและการจดทะเบียนเครื่องหมายเฉพาะตัว พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงการอนุญาตให้ผู้ผลิตหรือผู้ซ่อมเป็นผู้ตรวจสอบและให้คำรับรองเครื่องชั่งตวงวัดที่ตนผลิตหรือซ่อม พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจชั่งตวงวัดและการจดทะเบียนเครื่องหมายเฉพาะตัว พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงการอนุญาตให้ผู้ผลิตหรือผู้ซ่อมเป็นผู้ตรวจสอบและให้คำรับรองเครื่องชั่งตวงวัดที่ตนผลิตหรือซ่อม พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวง รวม 2 ฉบับ ตามที่ พณ. เสนอ เป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจชั่งตวงวัดและการจดทะเบียนเครื่องหมายเฉพาะตัว และปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการออกใบอนุญาต การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาต และการขอรับใบแทนใบอนุญาตและการออกใบแทนใบอนุญาตให้ผู้ผลิตหรือผู้ซ่อมเป็นผู้ตรวจสอบและให้คำรับรองเครื่องชั่งตวงวัดที่ตนผลิตหรือซ่อม เพื่อให้มีความเหมาะสมและชัดเจนยิ่งขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
1.1 กำหนดให้ยกเลิก
(1) ข้อ 1 ข้อ 2 และข้อ 3 แห่งกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการชั่งตวงวัด พ.ศ. 2544
(2) ลักษณะ 5 หลักเกณฑ์และวิธีการจดทะเบียนเครื่องหมายเฉพาะตัว ข้อ 91 ข้อ 92 และข้อ 93 แห่งกฎกระทรวงกำหนดเครื่องวัดที่อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 ชนิด ลักษณะ รายละเอียดของวัสดุที่ใช้ผลิต อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด และคำรับรองของเครื่องชั่งตวงวัด และหลักเกณฑ์และวิธีการจดทะเบียนเครื่องหมายเฉพาะตัว พ.ศ. 2546
1.2 กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจในการผลิต นำเข้า หรือซ่อมเครื่องชั่งตวงวัด ต้องจดทะเบียนเครื่องหมายเฉพาะตัว พร้อมแจ้งขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจและแจ้งการประกอบธุรกิจต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ กรณีที่ไม่สามารถดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ให้ยื่น ณ สำนักงานกลางหรือสำนักงานสาขาที่มีเขตอำนาจในจังหวัดที่สถานที่ประกอบธุรกิจตั้งอยู่ ทั้งนี้ เครื่องหมายเฉพาะตัวให้ใช้ได้ต่อหนึ่งประเภทกิจการและเฉพาะกิจการ ที่กำหนดในหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจเท่านั้น
1.3 กำหนดให้ผู้ที่จะประกอบธุรกิจผลิต นำเข้า ขาย ซ่อมเครื่องชั่งตวงวัด หรือให้บริการชั่งสินค้าของผู้อื่น ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามที่กำหนด เช่น
(1) มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร กรณีเป็นนิติบุคคลต้องจดทะเบียนหรือจัดตั้งตามกฎหมายไทยและมีสำนักงานอยู่ในราชอาณาจักร
(2) มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิที่จะใช้ประโยชน์ในสถานที่ประกอบธุรกิจที่มีสภาพมั่นคงและแข็งแรงตามหลักวิศวกรรม
(3) การประกอบธุรกิจผลิต นำเข้า หรือซ่อมเครื่องหมายชั่งตวงวัด ต้องมีบุคลากรซึ่งมีความรู้ความสามารถและได้รับหนังสือรับรองการผ่านการฝึกอบรมจากหน่วยงานที่สำนักงานกลางกำหนด รวมทั้งต้องมีแบบมาตรา เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการประกอบธุรกิจตามที่สำนักงานกลางกำหนด
1.4 กำหนดให้เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าแบบแจ้ง ข้อมูล และเอกสารหรือหลักฐานถูกต้องและครบถ้วน และผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง และแจ้งให้ผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวมารับหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจ พร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจและค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจ
1.5 กำหนดให้การประกอบธุรกิจในปีถัดไป ให้ผู้ได้รับหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่พร้อมเอกสารหลักฐานและชำระค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจ ยกเว้นการประกอบธุรกิจขายไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจ
1.6 กำหนดให้หนังสือรับรองการประกอบธุรกิจที่ได้ออกไว้ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจตามกฎกระทรวงนี้ 2. ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตให้ผู้ผลิตหรือผู้ซ่อมเป็นผู้ตรวจสอบและให้คำรับรองเครื่องชั่งตวงวัดที่ตนผลิตหรือซ่อม พ.ศ. .... สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
2.1 กำหนดให้ยกเลิก
(1) กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการชั่งตวงวัด พ.ศ. 2544
(2) กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการชั่งตวงวัด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549
2.2 กำหนดให้ผู้ผลิตหรือผู้ซ่อมเครื่องชั่งตวงวัดที่ประสงค์จะเป็นผู้ตรวจสอบและให้คำรับรองเครื่องชั่งตวงวัดที่ตนผลิตหรือซ่อม ต้องยื่นคำขออนุญาตพร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่กำหนดต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ กรณีไม่สามารถดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ให้ยื่น ณ สำนักงานกลางหรือสำนักงานสาขาที่มีเขตอำนาจในจังหวัดที่สถานที่ประกอบธุรกิจตั้งอยู่
2.3 กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะขออนุญาตตาม 2.2 ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(1) มีหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจในการผลิตหรือซ่อมเครื่องชั่งตวงวัดชนิดที่จะขออนุญาตและแจ้งการประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยมาตราชั่งตวงวัด
(2) มีแบบมาตราชั่งตวงวัดตามจำนวนและพิกัดกำลังของเครื่องชั่งตวงวัดแต่ละชนิด ห้องปฏิบัติการหรือสถานที่พร้อมเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็น และมีบุคลากรซึ่งมีความรู้ความสามารถในงานชั่งตวงวัดและได้รับหนังสือรับรองการผ่านการฝึกอบรมด้านชั่งตวงวัดจากหน่วยงานตามที่สำนักงานกลางกำหนด
2.4 กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบคำขอเอกสารหรือหลักฐานให้ถูกต้องและครบถ้วน พร้อมความเห็นเสนออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย พิจารณาออกใบอนุญาตให้แล้วเสร็จ ภายใน 10 วันทำการนับแต่วันที่ได้รับคำขอ พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานที่ถูกต้องและครบถ้วน ทั้งนี้ ใบอนุญาตต้องระบุประเภท ชนิดของเครื่องชั่ง เครื่องตวงหรือเครื่องวัด และระยะเวลาการอนุญาตไว้ด้วย แต่ต้องไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ออกใบอนุญาต
2.5 กำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตต้องรายงานผลการปฏิบัติงานต่อสำนักงานกลางหรือสำนักงานสาขาที่มีเขตอำนาจในจังหวัดที่สถานที่ประกอบธุรกิจตั้งอยู่ตามระเบียบที่สำนักงานกลางกำหนด
2.6 กำหนดให้ใบอนุญาตที่ได้ออกไว้ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ใช้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุ
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 ธันวาคม 2563