แนวทางการจัดทำแผนระดับที่ 3 ที่เป็นแผนปฏิบัติการด้าน... เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

ข่าวการเมือง Tuesday December 15, 2020 17:56 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมติคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ในการประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 เรื่อง แนวทางการจัดทำแผนระดับที่ 3 ที่เป็นแผนปฏิบัติการด้าน... เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานาฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง
สศช. รายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ในการประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 มีมติเห็นชอบแนวทางการจัดทำแผนฯ สรุปได้ ดังนี้
1. จากการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 และเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 สศช. ได้ดำเนินการรวบรวมและตรวจสอบแผนระดับที่ 3 ในส่วนของแผนฯ ที่จัดทำโดยหน่วยงานของรัฐเฉพาะที่ปรากฏเป็นข้อมูลในระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (Electronic Monitoring and Evaluation System of National Strategy and Country Reform: eMENSCR) และจากผลการพิจารณากลั่นกรองแผนฯ ของ สศช. รวมทั้งสิ้นจำนวน 174 ฉบับ มีข้อสังเกตที่สำคัญ ได้แก่

1.1 มีหลายแผนฯ ที่เป็นประเด็นการพัฒนาที่มีความทับซ้อนกัน

1.2 ที่ผ่านมามีหลายแผนฯ ที่จัดทำขึ้นโดยกลไกอื่น ๆ นอกเหนือจากการจัดทำโดยบทบัญญัติของกฎหมาย อาทิ มติคณะรัฐมนตรี มติคณะกรรมการระดับชาติ และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี

1.3 มีบางแผนฯ ที่ไม่มีกฎหมายกำหนดให้แผนฯ ใช้ชื่อเฉพาะซึ่งตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 และวันที่ 3 ธันวาคม 2562 กำหนดให้แผนปฏิบัติการทุกแผน หากไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดชื่อไว้อย่างชัดเจนต้องกำหนดชื่อแผนฯ ว่า ?แผนปฏิบัติการด้าน... ระยะที่ ... (พ.ศ. ....-....)? ดังนั้น การใช้ชื่อแผนอื่นใด อาทิ แผนยุทธศาสตร์ แผนแม่บท ถือว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว

1.4 มีหลายแผนฯ ที่มีห้วงระยะเวลาการดำเนินการไม่สอดคล้องกับห้วงเวลาของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดเป็น 4 ห้วง ห้วงละ 5 ปี 2. สศช. จึงขอเสนอแนวทางการจัดทำแผนฯ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกันดังนี้

2.1 หลักการการจัดทำแผนฯ

แผนระดับที่ 3 เป็นแผนในเชิงปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐ ประกอบด้วย (1) แผนฯ และ (2) แผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี และรายปี

(1) แผนฯ เป็นแผนการพัฒนาเชิงประเด็น (Issue Based) ที่ไม่ใช่การดำเนินการที่มีลักษณะเป็นภารกิจปกติ และมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากกว่า 1 กระทรวงหรือเทียบเท่า หรือหน่วยงานขึ้นตรงต่อ/ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี โดยต้องมีลักษณะเป็นแผนในเชิงปฏิบัติ (Action Plan) ซึ่งต้องมีองค์ประกอบและหลักเกณฑ์การจัดทำแผนฯ ตามที่ สศช. จะกำหนดต่อไป โดยพิจารณาถึงความจำเป็นของการต้องมีแผนฯ และมีแผนเฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ทั้งนี้ ต้องพิจารณาแผนฯ ที่เกี่ยวข้องหรือสอดคล้องกับแผนที่จะจัดทำขึ้นร่วมด้วย เพื่อพิจารณาความจำเป็นของการจัดทำแผนฯ และ/หรือการควบรวมเป็นแผนฯ เดียวกัน และ/หรือการยกเลิกการจัดทำแผนฯ โดยเฉพาะในกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้จัดทำแผนฯ

(2) ทุกหน่วยงานของรัฐต้องมีแผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี และรายปี เพื่อเป็นแผนระดับที่ 3 หลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ แผนระดับที่ 2 นโยบายรัฐบาล รวมทั้ง แผนระดับที่ 3 ที่เกี่ยวข้อง ไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562

2.2 แนวทางการเสนอแผนฯ ในกรณีต่าง ๆ

1. มีกฎหมายกำหนดให้จัดทำและเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแผนฯ

แนวทางการเสนอแผนฯ ตามมติคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติครั้งที่ 3/2563

  • ให้หน่วยงานดำเนินการจัดทำแผนฯ ตามกฎหมาย และเสนอ สศช. พิจารณากลั่นกรองตามขั้นตอนแนวทางการเสนอแผนระดับที่ 3 เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ก่อนการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป โดยให้ถือว่าพระราชกฤษฎีกาเป็นกฎหมายลำดับศักดิ์สุดท้าย

2. ไม่มีกฎหมายกำหนดให้จัดทำแผนฯ

แนวทางการเสนอแผนฯ ตามมติคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติครั้งที่ 3/2563

  • ให้หน่วยงานพิจารณาความจำเป็นของการจัดทำแผนฯ ซึ่งหากพบว่ายังมีความจำเป็นต้องจัดทำให้ดำเนินการดังนี้ (1) หน่วยงานประสงค์ที่จะจัดทำและนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้หน่วยงานดำเนินการจัดทำแผนฯ และเสนอ สศช. พิจารณากลั่นกรองตามขั้นตอนแนวทางการเสนอแผนระดับที่ 3 เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐนตรี โดยให้ผลการพิจารณาของ สศช. ถือเป็นที่สิ้นสุด หรือ (2) หน่วยงานประสงค์ที่จะจัดทำและนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบให้หน่วยงานจัดส่งแผนให้ สศช. ผ่านระบบ eMENSCR เพื่อ สศช. รวบรวมและรายงานต่อคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป

3. การดำเนินการจัดทำแผนผ่านกลไกทางบริหาร

แนวทางการเสนอแผนฯ ตามมติคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติครั้งที่ 3/2563

  • ให้หน่วยงานรักษาการกฎหมาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการทบทวนความจำเป็นของการมีแผนฯ โดยการจัดทำแผนฯ จะต้องมีเหตุจำเป็น ซึ่งหากไม่มี แผนฯ จะก่อให้เกิดความเสียหายหรือผลกระทบวงกว้างต่อประเทศอย่างรุนแรง โดยแผนฯ ต้องเป็นประเด็นการพัฒนาที่สำคัญและส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งไม่ใช่การดำเนินการที่มีลักษณะเป็นภารกิจปกติ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการดังนี้ (1) กรณีแผนฯ ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการระดับชาติหรือผู้มีอำนาจในการอนุมัติแผนแล้ว ให้หน่วยงานดำเนินการนำเข้าแผนฯ ในระบบ eMENSCR ตามที่ สศช. กำหนด แล้วถือว่าเป็นการประกาศใช้แผนฯ โดยไม่จำเป็นต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา โดย สศช. จะได้รวบรวมและเสนอคณะรัฐมนตรีเป็นเรื่องเพื่อทราบโดยเป็นมติคณะรัฐมนตรี หรือ (2) กรณีที่หน่วยงานที่ดำเนินการจัดทำแผนฯ พิจารณาแล้ว หากจำเป็นต้องจัดทำและนำเสนอแผนฯ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ดำเนินการตามกรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้จัดทำและเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแผนก่อนการประกาศใช้ (กรณีที่ 1) หรือกรณีที่ไม่มีกฎหมายกำหนดให้จัดทำแผน แต่หน่วยงานประสงค์ที่จะจัดทำและนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา [กรณีที่ 2 (1)]

สำหรับการดำเนินการตามภารกิจปกติของหน่วยงาน ให้นำไปบรรจุในแผนปฏิบัติราชการของหน่วยงาน ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562

2.3 สาระสำคัญของแผนฯ เห็นควรกำหนดให้มี

(1) เนื้อหาของแผน ให้มีสาระสำคัญของแผนอย่างน้อยตามองค์ประกอบและหลักเกณฑ์การจัดทำแผนฯ ที่ สศช. จะกำหนดต่อไป

(2) ระยะเวลาการดำเนินงานของแผนฯ ทุกแผนฯ สามารถมีกรอบระยะเวลาของ แผนฯ ที่เหมาะสมกับแต่ละประเด็นพัฒนาได้ แต่ต้องมีช่วงเวลาของการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม ต้องมีผลผลิต ผลลัพธ์ ตลอดจนองค์ประกอบต่าง ๆ ของแผนฯ ที่สอดคล้องกับห้วงเวลาของแผนแม่บทฯ ที่กำหนดเป็นห้วงละ 5 ปี ได้แก่ ปี 2566 ? 2570 ปี 2571 ? 2575 และ ปี 2576 - 2580 เพื่อให้การดำเนินการและการติดตามประเมินผลสามารถดำเนินการได้อย่างสอดคล้องกันอย่างเป็นรูปธรรม

(3) ชื่อของแผนฯ แผนปฏิบัติการทุกแผน หากไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดชื่อไว้อย่างชัดเจน ต้องกำหนดชื่อแผนฯ ว่า ?แผนปฎิบัติการด้าน... ระยะที่ ... (พ.ศ. ....-....)?

2.4 กระบวนการภายหลังจากที่แผนฯ ได้รับการประกาศใช้

กำหนดให้ทุกหน่วยงานนำทุกแผนฯ ที่ประกาศใช้แล้วเข้าระบบ eMENSCR ตามหลักเกณฑ์ที่ สศช. กำหนด ทั้งนี้ รวมไปถึงแผนปฏิบัติราชการราย 5 ปี และรายปี รวมทั้งรายงานผลสัมฤทธิ์ของแผนปฏิบัติราชการรายปีด้วย รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนดำเนินการทบทวน/ปรับปรุงแผนฯ ให้สอดคล้องกับแผนระดับที่ 1 และ/หรือแผนระดับที่ 2 ในกรณีที่สถานการณ์ของโลกหรือสถานการณ์ของประเทศเปลี่ยนแปลงไป และจำเป็นต้องมีการปรับปรุงหรือทบทวนแผนระดับที่ 1 และ/หรือแผนระดับที่ 2

2.5 การขอยกเว้นการเสนอแผนฯ

กรณีหน่วยงานเสนอขอยกเว้นการเสนอแผนฯ ตามกระบวนการเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560) ไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ขอให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแจ้งส่งแผนดังกล่าวให้ สศช. พิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมต่อการยกเว้นดังกล่าวก่อนทุกครั้ง

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 ธันวาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ