คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการคลังเสนอรายงานผลการดำเนินการภายใต้แผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 (ปี 2560-2564) ประจำปี 2562 [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 เรื่องร่างแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 (ปี 2560-2564) ที่ให้คณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทย (คณะกรรมการฯ) รายงานผลการดำเนินการตามแผนพัฒนาตลาดทุนฯ ให้คณะรัฐมนตรีทราบทุกปี] ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 ที่ประชุมได้มีมติรับทราบรายงานความคืบหน้าของการดำเนินการดังกล่าวและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำข้อมูลประเมินผลสัมฤทธิ์ของแผนการพัฒนาตลาดทุนฯ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 1. ผลการดำเนินการภายใต้แผนพัฒนาตลาดทุนฯ ประจำปี 2562
1.1 ความคืบหน้าของการดำเนินการตามแผนพัฒนาตลาดทุนฯ (ประกอบด้วย 5 มาตรการหลัก 14 มาตรการย่อย และแผนงานสนับสนุน 46 โครงการ) ณ สิ้นไตรมาสที่ 4/2562 สรุปได้ดังนี้
1.1.1 แผนงานที่ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 24 แผนงาน เช่น (1) การจัดทำข้อกำหนดเกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์ผ่านระบบคราวด์ฟันดิงและการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสำหรับธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล (2) การแก้เกณฑ์เพื่อรองรับการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (3) การขยายขอบเขตการให้บริการวางหลักทรัพย์เป็นหลักประกันข้ามตลาด (4) การปรับกติการองรับรูปแบบการทำธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีแทนคน (5) การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อใช้วิเคราะห์การลงทุนในตลาดทุน (6) การอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนต่างชาติที่ต้องการนำเงินไปลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) และ (7) การจัดให้มีกฎหมายเพื่อรองรับธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ
1.1.2 แผนงานที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 10 แผนงาน เช่น (1) การผ่อนคลายกฎระเบียบในการทำธุรกรรมตลาดทุนเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ (2) การกำหนดให้ระบบซื้อขายทางเลือกเป็นธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทหนึ่ง (3) การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 และ (4) การเตรียมโครงสร้างพื้นฐานให้ไทยเป็นจุดเชื่อมโยงให้บริการด้านการเงินของภูมิภาค
1.1.3 แผนงานที่ล่าช้ากว่ากำหนด จำนวน 11 แผนงาน เช่น (1) การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) เข้าถึงแหล่งเงินทุน (2) การแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ เช่น ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (3) การจัดตั้งระบบทะเบียนกลางด้านบำเหน็จบำนาญของประเทศ และ (4) การพัฒนาความรู้ทางการเงินขั้นพื้นฐานของไทย
1.1.4 แผนงานที่ไม่เป็นไปตามแผน จำนวน 1 แผนงาน ได้แก่ การเปิดให้บุคคลที่ไม่ใช่ผู้ออกหลักทรัพย์สามารถนำหลักทรัพย์มายื่นขอจดทะเบียนเพื่อทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์พิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ลงทุนสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้โดยตรง หรือลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านการลงทุนตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้
1.2 การเพิ่มเติมและทบทวนแผนงานและตัวชี้วัดผลการดำเนินการภายใต้แผนพัฒนาตลาดทุนฯ โดยที่แผนการพัฒนาตลาดทุนฯ ได้ดำเนินการมาครึ่งแผนแล้ว (ตั้งแต่ปี 2560) ประกอบกับตลาดทุนไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจากสภาวะเศรษฐกิจ เทคโนโลยีทางการเงิน ตลอดจนปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงได้มีการทบทวนแผนงานให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปและนโยบายของรัฐบาล ดังนี้
1.2.1 เพิ่มเติมและทบทวนแผนงานภายใต้แผนพัฒนาตลาดทุนฯ จากเดิม 5 มาตรการ เป็น 7 มาตรการ ได้แก่ มาตรการหลักที่ 6 การพัฒนาตลาดทุนดิจิทัล และมาตรการที่ 7 การส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ส่งผลให้มีมาตรการย่อยเพิ่มเติมจากเดิม 14 มาตรการ เป็น 17 มาตรการ และแผนงานสนับสนุนเพิ่มขึ้นจากเดิม 46 แผนงาน เป็น 65 แผนงาน
1.2.2 เพิ่มเติมและทบทวนตัวชี้วัดผลการดำเนินการภายใต้แผนพัฒนาตลาดทุนฯ โดยเพิ่มเติมตัวชี้วัดในระดับยุทธศาสตร์เป้าหมายจากเดิม 12 ตัวชี้วัด เป็น 15 ตัวชี้วัด ได้แก่ ด้านการเข้าถึง ด้านแข่งได้ และด้านยั่งยืน รวมทั้งทบทวนและปรับปรุงตัวชี้วัดเดิม 4 ตัวชี้วัด 2. การประเมินผลสัมฤทธิ์ของแผนพัฒนาตลาดทุนฯ ระยะครึ่งแผน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำการประเมินผลสัมฤทธิ์ของแผนพัฒนาตลาดทุนฯ ณ สิ้นปี 2562 ตามมติคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 เสร็จเรียบร้อยแล้ว สรุปได้ดังนี้
2.1 ตัวชี้วัดในระดับวิสัยทัศน์ บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2564 แล้ว จำนวน 2 ตัวชี้วัด (จาก 5 ตัวชี้วัด) ได้แก่ ผลการจัดอันดับด้านการพัฒนาตลาดทุนของไทย ตามการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกปรับตัวดีขึ้น และมูลค่าเงินลงทุนในหลักทรัพย์ เข้าและออกระหว่างประเทศไทยกับประเทศอาเซียน ส่วนตัวชี้วัดอื่น ๆ อยู่ระหว่างการดำเนินการ
2.2 ตัวชี้วัดในระดับยุทธศาสตร์ บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2564 แล้ว จำนวน 4 ตัวชี้วัด (จาก 12 ตัวชี้วัด) ได้แก่ (1) มูลค่าระดมทุนของกองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เข้าระดมทุนในหลักทรัพย์ของภาครัฐและภาคเอกชน (2) จำนวนบริษัทที่ออกและเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกในตลาดหลักทรัพย์ (3) การรักษาอันดับดัชนีชี้วัดความน่าสนใจของประเทศสำหรับธุรกิจเงินร่วมลงทุน และ (4) การจัดอันดับทักษะทางการเงินเบื้องต้นของประเทศไทยดีขึ้น ส่วนตัวชี้วัดอื่น ๆ อยู่ระหว่างการดำเนินการ
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 ธันวาคม 2563