รายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะ และรายงานสถานะหนี้สาธารณะ หนี้ภาครัฐและความเสี่ยงทางการคลัง ตามมาตรา 50 และมาตรา 76

ข่าวการเมือง Tuesday December 15, 2020 18:15 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง รายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะ และรายงานสถานะหนี้สาธารณะ หนี้ภาครัฐและความเสี่ยงทางการคลัง ตามมาตรา 50 และมาตรา 76 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ณ วันสิ้นปีงบประมาณ 2563

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ รายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะ และรายงานสถานะหนี้สาธารณะ หนี้ภาครัฐ และความเสี่ยงทางการคลัง ตามมาตรา 50 และมาตรา 76 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ณ วันสิ้นปีงบประมาณ 2563 โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นจริงในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา (เดือนเมษายน-กันยายน 2563) ยังคงอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด โดยข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 มีดังนี้

กรอบการบริหารหนี้สาธารณะตามมาตรา 50

(1) สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)

กรอบที่กำหนด ไม่เกินร้อยละ 60

สัดส่วนหนี้ที่เกิดขึ้นจริง

ณ 31 มีนาคม 2563 / 41.69

ณ 30 กันยายน 2563 / 49.34

(2) สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ

กรอบที่กำหนด ไม่เกินร้อยละ 35

สัดส่วนหนี้ที่เกิดขึ้นจริง

ณ 31 มีนาคม 2563 / 28.26

ณ 30 กันยายน 2563 / 25.38

(3) สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด

กรอบที่กำหนด ไม่เกินร้อยละ 10

สัดส่วนหนี้ที่เกิดขึ้นจริง

ณ 31 มีนาคม 2563 / 2.73

ณ 30 กันยายน 2563 / 1.78

(4) สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ

กรอบที่กำหนด ไม่เกินร้อยละ 5

สัดส่วนหนี้ที่เกิดขึ้นจริง

ณ 31 มีนาคม 2563 / 0.18

ณ 30 กันยายน 2563 / 0.01

2. สถานะหนี้สาธารณะ หนี้ภาครัฐ และความเสี่ยงทางการคลัง ประกอบด้วย

2.1 สถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันสิ้นปีงบประมาณ 2563 มีจำนวน 7,848,155.88 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 49.34 ของ GDP เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 41.10 เนื่องจากหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงเพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อนำไปพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสร้างขีดความสามารถของประเทศผ่านโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

2.2 สถานะหนี้เงินกู้คงค้าง ณ วันสิ้นปีงบประมาณ 2563 ของหน่วยงานของรัฐ ประกอบด้วย

2.2.1 สถานะหนี้เงินกู้คงค้างของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ณ วันสิ้นปีงบประมาณ 2563 มีหนี้เงินกู้คงค้าง 1 บริษัท (จากทั้งหมด 2 บริษัท) ได้แก่ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จำนวน 94,733.34 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.03)

2.2.2 สถานะหนี้เงินกู้คงค้างของรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงินที่ กค. ไม่ได้ค้ำประกัน ได้แก่ (1) รัฐวิสาหกิจทำธุรกิจให้กู้ยืม (2) รัฐวิสาหกิจทำธุรกิจบริหารสินทรัพย์ และ (3) รัฐวิสาหกิจทำธุรกิจประกันสินเชื่อ มีหนี้เงินกู้คงค้างรวมทั้งสิ้น 538,077.72 ล้านบาท

2.2.3 สถานะหนี้เงินกู้คงค้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 มีหนี้เงินกู้คงค้างจำนวน 38,069.47 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นหนี้เงินกู้ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร

2.2.4 สถานะหนี้เงินกู้คงค้างของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 มีจำนวน 5,263,049 ล้านบาท โดยเป็นการกู้เงินเพื่อดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.

2.3 การวิเคราะห์ความเสี่ยงทางการคลังที่เกิดจากหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 มีหนี้สาธารณะจำนวน 7,848,155.88 ล้านบาท สามารถจำแนกตามการเป็นภาระต่องบประมาณได้ ดังนี้ (1) หนี้ที่เป็นภาระต่องบประมาณโดยตรง จำนวน 6,267,230.04 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 79.86 ของหนี้สาธารณะทั้งหมด โดยเป็นหนี้เงินกู้ที่เป็นภาระตามกฎหมาย สัญญา มติคณะรัฐมนตรี หรือข้อตกลงที่รัฐบาลต้องชำระคืนเมื่อถึงกำหนด ทั้งนี้ หนี้ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟู เศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 และหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) ที่รัฐบาลรับภาระเป็นสำคัญ และ (2) หนี้ที่ไม่เป็นภาระต่องบประมาณโดยตรง คือ หนี้ที่หน่วยงานเป็นผู้รับภาระการชำระหนี้หรือมีแหล่งรายได้อื่นที่ไม่ใช่งบประมาณมาชำระหนี้ จำนวน 1,580,925.84 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20.14 ของหนี้สาธารณะทั้งหมด เช่น หนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และหนี้รัฐวิสาหกิจและหนี้หน่วยงานของรัฐที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์ภาระหนี้ประกอบกับแผนการกู้เงินและการชำระหนี้ในอนาคตพบว่า อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐที่กำหนดไว้

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 ธันวาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ