แผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564

ข่าวการเมือง Tuesday December 15, 2020 18:18 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เสนอแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงาน โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการในลักษณะยึดพื้นที่เป็นตัวตั้งควบคู่กับการดำเนินการตามมาตรการและแนวทางการดำเนินการเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVD -19) โดยบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยทหารในพื้นที่และภาคประชาสังคมในการดำเนินงานอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง รวมทั้งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ชุมชน หมู่บ้าน อาสาสมัครต่าง ๆ และประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งกำหนดให้ อปท. เป็นเจ้าภาพในการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนนทั้งจากคน ยานพาหนะ ถนน และสิ่งแวดล้อม ให้เหลือน้อยที่สุดและเพื่อดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประขาชนให้ครอบคลุมทุกมิติโดยให้ความสำคัญในการดำเนินงานเชิงรุกและการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เคร่งครัดและต่อเนื่อง ควบคู่กับการสร้างจิตสำนึกและความตระหนักด้านความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนนและประชาชน ทั้งนี้ คณะกรรมการ ศปถ. ในการประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 23 กรกฎคม 2563 และครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 เห็นชอบแล้ว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. ชื่อในการรณรงค์

?ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ? 2. เป้าหมายการดำเนินการ

เพื่อให้ประชาชนเดินทางอย่างสุขใจกับชีวิตวิถีใหม่ที่ห่างไกลจากอุบัติเหตุตลอดช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564 3. ตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน

เช่น (1) จำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ ลดลงให้เหลือน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับสถิติในช่วงเทศกาลปีใหม่เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังและ (2) จำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุในระดับจังหวัดและอำเภอเสี่ยงที่เป็นสีแดงลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยช่วงเทศกาลปีใหม่ย้อนหลัง 3 ปี 4. แนวทางการดำเนินการ

ช่วงการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ ระหว่างวันที่ 1-21 ธันวาคม 2563

ช่วงการดำเนินงาน ได้แก่

(1) ช่วงก่อนควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 22 - 28 ธันวาคม 2563

(2) ช่วงควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2563 - 4 มกราคม 2564

(3) ช่วงหลังควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 5-11 มกราคม 2564 5. มาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน จำนวน 5 มาตรการ

5.1 มาตรการด้านการบริหารจัดการ

เช่น (1) ให้มีการจัดตั้งศูนย์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564 ระดับส่วนกลาง (ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) ระดับจังหวัด กรุงเทพมหานคร (กทม.) อำเภอ และ อปท. เพื่ออำนวยการ ควบคุม กำกับดูแลและติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการช่วงเทศกาลปีใหม่ (2) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จังหวัด และ กทม. นำกรอบแผนบูรณาการฯ ไปจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อบูรณาการการดำเนินงานทุกภาคส่วนและกำหนดแนวทาง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564 โดยให้นำแนวทางเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดโรค COVID - 19 มาดำเนินการ (3) ให้จังหวัด และ กทม. แต่งตั้งคณะทำงานบูรณาการการจัดตั้งจุดตรวจ จุดบริการ เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางรูปแบบ และสถานที่ในการจัดตั้งจุดตรวจ และจุดบริการ (4) การลดปัจจัยเสี่ยง เช่น ใช้กลไกของท้องที่ควบคุมและดำเนินการมาตรการเชิงรุก ?เคาะประตูบ้าน? เพื่อสอดส่อง ดูแล ป้องปราม และตักเตือนผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในพื้นที่ และการจัดตั้ง ?ด่านชุมชน? (5) มาตรการองค์กรของหน่วยงานภาครัฐ เช่น ให้ทุกหน่วยงานรณรงค์ประชาสัมพันธ์การปฏิบัติตนตามมาตรการองค์กรอย่างเข้มข้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564 (6) ความปลอดภัยทางน้ำ โดยให้กระทรวงคมนาคม (คค.) บูรณาการทำงานร่วมกับจังหวัด กทม. อปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ เช่นจัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยทางน้ำประจำท่าเทียบเรือในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และตรวจสอบความปลอดภัยของเรือโดยสารและโป๊ะเทียบเรือ (7) ความปลอดภัยนักท่องเที่ยว เช่น ให้จังหวัดที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน จังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวและ กทม. พิจารณาหามาตรการ แนวทางการดูแลความปลอดภัยและการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนเป็นพิเศษตามความเหมาะสมของพื้นที่ โดยให้นำแนวทางเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดโรค COVID ? 19 มาดำเนินการ

5.2 มาตรการด้านลดปัจจัยเสี่ยงด้านถนนและสภาพแวดล้อม

  • ด้านถนน เช่น (1) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและ อปท. สำรวจ ตรวจสอบลักษณะกายภาพของถนน จุดเสี่ยง จุดอันตราย จุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จุดที่เกิดอุบัติเหตุใหญ่ และดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้มีความปลอดภัยและ (2) ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) ร่วมกับ คค. จัดทำแผนอำนวยความสะดวกการจราจร โดยจัดเตรียมช่องทางพิเศษ ทางเลี่ยง ทางลัดและจัดทำป้ายเตือน ป้ายแนะนำต่าง ๆ ให้ชัดเจน
  • ด้านสภาพแวดล้อม ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ อปท. ตรวจสอบสิ่งอันตรายข้างทางและปรับปรุงแก้ไขให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์
  • จุดตัดทางรถไฟ ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยร่วมกับ อปท. กำหนดมาตรการแนวทางการแก้ไขปัญหาบริเวณจุดตัดทางรถไฟให้มีความปลอดภัยในการสัญจร เช่น จัดทำป้าย เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน

5.3 มาตรการด้านลดปัจจัยเสี่ยงด้านยานพาหนะ

เช่น (1) ให้ คค. ร่วมกับจังหวัดกำกับ ควบคุม ดูแลรถโดยสารสาธารณะ รถโดยสารไม่ประจำทาง พนักงานขับรถโดยสาร และพนักงานประจำรถให้ถือปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมายอย่างเคร่งครัด (2) ให้ คค. จังหวัด และ กทม. ขอความร่วมมือกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถบรรทุกหยุดประกอบกิจการหรือหลีกเลี่ยงการใช้รถบรรทุกในการประกอบกิจการในช่วงเทศกาลปีใหม่ และ (3) ให้ คค. และ ตช. เข้มงวดกับรถตู้ส่วนบุคคลหรือรถเช่าของผู้ประกอบการธุรกิจให้มีมาตรฐานด้านความปลอดภัย

5.4 มาตรการด้านผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย

  • การบังคับใช้กฎหมาย เช่น ให้ ตช. บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจังและต่อเนื่อง ดำเนินการตามมาตรการ ?ตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์? อย่างเข้มข้นภายใต้มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข และให้บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กฎหมายสุรา และกฎหมายสถานบริการ
  • การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ เช่น ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จังหวัด และ กทม. จัดทำแผนการประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่แนวทางความรู้ด้านความปลอดภัยทางถนนในชุมชน/หมู่บ้าน

5.5 มาตรการด้านการช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ

เช่น (1) จัดเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาลและหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ระบบการติดต่อสื่อสาร การสั่งการ การประสานงาน และการแบ่งมอบพื้นที่ความรับผิดชอบของหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินในครือข่ายและดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน และ (2) จัดเตรียมความพร้อมของหน่วยกู้ชีพและกู้ภัย

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 ธันวาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ