คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 46 บัญญัติให้สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง บุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคและองค์กรของผู้บริโภคดังกล่าวมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ขึ้นเพื่อให้สิทธิแก่ประชาชนในการรวมตัวกันเป็นองค์กรของผู้บริโภค และเข้าร่วมกันจัดตั้งเป็นสภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 โดยมีองค์กรต่าง ๆ ยื่นแจ้งสถานะความเป็นองค์กรของผู้บริโภคต่อนายทะเบียนกลางแล้ว 666 องค์กร และนายทะเบียนกลางได้ประกาศรายชื่อแล้วรวม 170 องค์กร (ข้อมูล ณ วันที่ 5 พฤศจิกยน 2563) ทั้งนี้ เมื่อนายทะเบียนกลางพิจารณาความถูกต้องครบถ้วนแล้วต้องดำเนินการประกาศการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคในราชกิจจานุเบกษา และทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับตั้งแต่ที่ได้รับแจ้งหรือวันที่รวบรวมองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคครบถ้วน
2. ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2563 กลุ่มตัวแทนองค์กรของผู้บริโภค จำนวน 151 องค์กรนำโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพร้อมคณะได้ยื่นเป็นผู้เริ่มก่อการพร้อมกับแจ้งหลักฐานการยินยอมเข้าร่วมขององค์กรของผู้บริโภคต่อผู้แทน สปน. ในการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคแล้วพบว่าเอกสารองค์กรของผู้บริโภค จำนวน 7 องค์กรยังมีข้อบกพร่อง ทำให้ยังไม่อาจเริ่มนับระยะเวลา 30 วัน เพื่อประกาศจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคจนกว่าจะได้แก้ไขให้ถูกต้องครบถ้วน
3. เนื่องจากพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 มาตรา 19 บัญญัติให้รัฐบาลต้องจัดสรรเงินอุดหนุนไว้ที่ สปน. เป็นการจ่ายขาด เพื่อเป็นทุนประเดิมเบื้องต้นให้แก่สภาองค์กรของผู้บริโภคที่จัดตั้งขึ้นจำนวนไม่น้อยกว่า 350 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเบื้องต้นในการดำเนิการให้เกิดการรวมตัวกันขององค์กรของผู้บริโภคอย่างแท้จริงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ภายใน 60 วัน นับแต่วันประกาศจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค โดยให้การจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่สภาอค์กรของผู้บริโภคให้เป็นไปตามระเบียบที่ สปน. กำหนด ซึ่ง สปน. ได้ดำเนินการยกร่างระเบียบสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจ่ายเงินอุดหนุนแก่สภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. .... ไว้เรียบร้อยแล้ว และได้มีการจัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาร่างระเบียบฯ ดังกล่าวเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2563 ซึ่งที่ประชุมฯ ได้มีมติเห็นชอบให้ สปน. หารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับประเด็นการจัดสรรเงินอุดหนุนเพื่อเป็นทุนประเดิมเบื้องต้นให้แก่สภาองค์กรของผู้บริโภค จำนวน 350 ล้านบาท ว่าจะต้องจัดสรรให้แก่สภาองค์กรของผู้บริโภคสภาแรกสภาเดียวหรือไม่ อย่างไร [เรื่องนี้คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 11) ได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าว โดยมีผู้แทน สปน. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงบประมาณ และผู้แทนกระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริง มีความเห็นว่า การจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อเป็นทุนประเดิมเบื้องต้นให้แก่สภาองค์กรของผู้บริโภคตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 จะต้องพิจารณาจ่ายให้แก่สภาองค์กรของผู้บริโภคที่นายทะเบียนกลางได้มีการประกาศจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคตามมาตรา 9 วรรคสี่ เป็นครั้งแรกหลังจากวันที่พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พศ. 2562 ใช้บังคับเพียงสภาเดียวเท่านั้น]
4. ทั้งนี้ ในการขอรับจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นเงินอุดหนุนจ่ายขาดให้กับสภาองค์กรของผู้โภค เพื่อเป็นทุนประเดิมเบื้องต้น สปน. นั้น จะได้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 ต่อไป
5. เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 สปน. แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมว่า ได้ดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารองค์กรของผู้บริโภคที่ยื่นเป็นผู้เริ่มก่อการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคต่อนายทะเบียนกลางครบถ้วนแล้ว และนายทะเบียนกลางเห็นว่า เป็นไปตามเงื่อนไขเรื่องที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 สปน. จึงได้ส่งประกาศนายทะเบียนกลาง เรื่อง การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2563 มายังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยให้มีผลใช้บังคับนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 ธันวาคม 2563