คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอรายงานผลดำเนินการจัดตั้งศูนย์ Thailand 5G Ecosystem Innovation Center (5G EIC) และมอบหมายให้ ดศ. โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (สศด.) เป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาและส่งเสริมระบบนิเวศทางเทคโนโลยี 5G โดยประสานงานและดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2563 ณ ทำเนียบรัฐบาล ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 133/2563 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่สำคัญในการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5G ของประเทศไทยในส่วนของการต่อยอด การใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี 5G ภายหลังจากที่ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมได้มีการประมูลคลื่นความถี่ และมีการลงทุนขยายโครงข่ายในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมรองรับการใช้งานเทคโนโลยี 5G โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย 1) เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ 5G ของประเทศไทย ระยะที่ 1 2) เห็นชอบการดำเนินการโครงการนำร่องในการต่อยอดการใช้ประโยชน์ 5G ของประเทศไทยในระยะสั้น ด้านการส่งเสริมเกษตรดิจิทัล และการส่งเสริมโรงพยาบาลอัจฉริยะ และ 3) เห็นชอบมาตรการส่งเสริม และเพิ่มประสิทธิภาพการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในภาคอุตสาหกรรมเพื่อมุ่งสู่การปฏิบัติ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียมและเต็มประสิทธิภาพ
จากมติการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 ดังกล่าว ดศ. จึงได้เร่งเตรียมความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาระบบนิเวศของ 5G เพื่อให้ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเต็มประสิทธิภาพ รองรับต่อการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคดิจิทัล ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยี 5G เป็นหนึ่งในโครงสร้างดิจิทัลที่สำคัญ มีความสามารถในการรับส่งข้อมูลปริมาณมากได้อย่างรวดเร็ว มีความน่าเชื่อถือสูงและมีความล่าช้าต่ำมาก อีกทั้งสามารถรับส่งข้อมูลในขณะเคลื่อนที่ได้ดีขึ้นและสามารถเชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์จำนวนมากพร้อมกันได้ ส่งผลให้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดในปัจจุบัน ต่อยอดให้สามารถประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และ Big Data ตลอดจนเทคโนโลยีอื่น ๆ ในอนาคต รองรับการประยุกต์ใช้งานในบริการต่าง ๆ และสามารถประยุกต์ใช้งานในด้านต่าง ๆ ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างทั่วถึง อาทิ สื่อบันเทิง (Media and Entertainment) การผลิต (Manufacturing) สาธารณสุข (Healthcare) สาธารณูปโภค (Utility) การคมนาคมขนส่ง (Transportation and Logistics) รวมถึงระบบการจัดการเมือง โดยอุปกรณ์ IoT จะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายเป็นจำนวนมหาศาล จำเป็นต้องมีการเชื่อมต่อบนโครงข่ายการสื่อสารไร้สาย เพื่อรับส่งข้อมูล รวบรวม และวิเคราะห์ประมวลผล เพื่อการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยี 5G จึงเป็นเทคโนโลยีแห่งความหวังที่จะช่วยส่งเสริมให้บริการที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เอื้อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมการบริการใหม่ ๆ และส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตรวมถึงการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยสำคัญ
จากความสำคัญของเทคโนโลยี 5G ดังกล่าว ดศ. โดย สศด. จึงได้ร่วมกับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด จัดตั้งศูนย์ Thailand 5G Ecosystem Innovation Center (5G EIC) ณ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (อาคารลาดพร้าวฮิลล์) ซึ่งเป็นพื้นที่กำกับดูแลเป็นการเฉพาะ (Regulatory Sandbox) เพื่อเป็นพื้นที่ทดลองทดสอบเทคโนโลยี 5G (5G Testbed) สำหรับการเชื่อมต่อ (Connectivity) การใช้งานคลื่นความถี่ร่วมกัน (Spectrum Sharing) รวมทั้ง การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G เพื่อการพัฒนานวัตกรรมบริการทางเทคโนโลยี 5G (5G Application and Services) สำหรับการคิดค้น ทดลอง ทดสอบและพัฒนานวัตกรรมใหม่ สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ตลอดจนสถาบันการศึกษามีพื้นที่ในการพัฒนาองค์ความรู้และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเครือข่ายพันธมิตรและระบบนิเวศสำหรับเทคโนโลยี 5G (5G Network and Ecosystem) ทั้งในและต่างประเทศ เป็นการยกระดับขีดความสามารถทางดิจิทัลให้กับบุคลากรในประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G และการเปลี่ยนผ่านเชิงดิจิทัลเพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ ผ่านกลไกการสร้างระบบนิเวศทางเทคโนโลยี 5G เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศไทย ได้อย่างคุ้มค่าและสร้างสรรค์ โดยได้ทำพิธีเปิดศูนย์ฯ ไปเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในนามของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมา (ระหว่างวันที่ 22 กันยายน - 10 พฤศจิกายน 2563) ศูนย์ Thailand 5G Ecosystem Innovation Center (5G EIC) มีผู้เข้าเยี่ยมชมศึกษาดูงานรวมทั้งสิ้น 827 คน ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ 427 คน (52%) ภาคเอกชน 127 คน (15%) สถาบันการศึกษา 154 คน (19%) รัฐวิสาหกิจ 66 คน (8%) และสื่อมวลชน 53 คน (6%) ทำให้เกิดการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอด เรียนรู้การพัฒนา และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G เกิดการพัฒนาเครือข่ายพันธมิตรระดับโลก คิดเป็นมูลค่า 475 ล้านบาท อันจะนำมาซึ่งระบบนิเวศ 5G เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของไทย ให้สามารถนำเทคโนโลยี Cloud, AI, และ IoT มาประยุกต์ใช้เพื่อตอบสนองยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล พร้อมยกระดับทักษะดิจิทัลให้บุคลากรของไทยมีความพร้อมต่อยอดได้ในระดับสากล
ในการนี้ เพื่อให้เกิดการนำเทคโนโลยี 5G ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม ดศ. โดย สศด. จึงได้สนับสนุน และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นด้านดิจิทัล (Digital Startup) วิจัย พัฒนา ทดลอง และทดสอบนวัตกรรมใหม่ โดยคาดว่าจะร่วมดำเนินการกับหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา อาทิ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นต้น นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการหาแนวทางสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์ทั้งทางด้านภาษี และมิใช่ภาษี (Tax / Non-Tax Incentive) รวมถึงมาตรการสนับสนุนทางการเงินต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างระบบนิเวศทางเทคโนโลยี 5G อาทิ แหล่งทุนด้านการวิจัยและพัฒนา การเริ่มต้นธุรกิจ การขยายพื้นที่กำกับดูแลเป็นการเฉพาะ (Regulatory Sandbox) ให้เอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ในประเทศไทยให้เข้มแข็งและยั่งยืน เพื่อก้าวไปสู่การเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในระดับภูมิภาคต่อไป
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 ธันวาคม 2563