รายงานสรุปผลการดำเนินงานในภาพรวมของทุนหมุนเวียน ประจำบัญชี 2562

ข่าวการเมือง Tuesday December 15, 2020 18:33 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสรุปผลการดำเนินงานในภาพรวมของทุนหมุนเวียน ประจำปีบัญชี 2562 ตามที่คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนเสนอ และให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาทราบต่อไป

คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนเสนอว่า โดยที่พระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 มาตรา 31 บัญญัติให้กรมบัญชีกลางมีหน้าที่ประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียนที่ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคลเป็นประจำทุกปี โดยต้องประเมินในด้านการเงิน การปฏิบัติการ การสนองประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การบริหารจัดการทุนหมุนเวียน การปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริหาร ผู้บริหารทุนหมุนเวียน พนักงานและลูกจ้างและด้านอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด และมาตรา 33 บัญญัติให้กรมบัญชีกลางรวบรวมและจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินงานในภาพรวมของทุนหมุนเวียนทั้งหมดต่อคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อทราบต่อไป ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงได้เสนอรายงานสรุปผลการดำเนินงานในภาพรวมของทุนหมุนเวียน ประจำบัญชี 2562 มาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญของรายงานฯ
รายงานสรุปผลการดำเนินงานในภาพรวมของทุนหมุนเวียน ประจำบัญชี 2562 มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. สถานะทางการเงินของทุนหมุนเวียนในภาพรวม

1.1 สินทรัพย์และหนี้สินของทุนหมุนเวียน มีสินทรัพย์รวม ณ สิ้นปีบัญชี 2562 จำนวนรวมทั้งสิ้น 4,282,571.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีบัญชี 2561 จำนวน 187,161.36 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4.57

1.2 รายได้และค่าใช้จ่ายของทุนหมุนเวียน ทุนหมุนเวียนมีรายได้ในภาพรวมเท่ากับ 630,587.14 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในภาพรวมเท่ากับ 526,088.31 ล้านบาท ส่งผลให้ทุนหมุนเวียนมีรายได้สุทธิ (รายได้สูงกว่าค่าใช้จ่าย) เท่ากับ 104,498.82 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 16.57 ของรายได้รวมทั้งหมด

1.3 การนำทุนและผลกำไรส่วนเกินส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

1.3.1 ทุนหมุนเวียน จำนวน 19 ทุน นำทุนและผลกำไรส่วนเกินส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ประจำปีบัญชี 2561 รวมทั้งสิ้น 18,759.74 ล้านบาท

1.3.2 ทุนหมุนเวียน จำนวน 10 ทุน อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้นำทุนและผลกำไรส่วนเกินส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ปีบัญชี 2562 รวมทั้งสิ้น 1,950.11 ล้านบาท

1.3.3 ทุนหมุนเวียน จำนวน 6 ทุน อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้นำทุนและผลกำไรส่วนเกินส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ประจำปีบัญชี 2563 รวมทั้งสิ้น 1,162.74 ล้านบาท 2. ผลการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน

ในปีบัญชี 2562 มีทุนหมุนเวียนทั้งสิ้น 115 ทุน โดยมีทุนหมุนเวียนที่เข้าสู่ระบบการประเมินผลการดำเนินงานของกรมบัญชีกลาง จำนวน 97 ทุน และไม่เข้าสู่ระบบการประเมินผลการดำเนินงานของกรมบัญชีกลาง จำนวน 18 ทุน ดังนี้

2.1 ทุนหมุนเวียนที่เข้าสู่ระบบการประเมินผลการดำเนินงานของกรมบัญชีกลาง จำนวน 97 ทุน มีคะแนนผลการประเมินเฉลี่ยในภาพรวม เท่ากับ 3.9083 คะแนน (คะแนนเต็ม 5.0000 คะแนน) เพิ่มขึ้น 0.0696 คะแนน เมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานในปีบัญชี 2561 โดยมีทุนหมุนเวียนที่มีผลการประเมินผ่านเกณฑ์การประเมินผล จำนวน 45 ทุน และทุนหมุนเวียนที่มีผลการประเมินไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินผล หรือมีคะแนนผลการประเมินบางด้านต่ำกว่า 3.0000 คะแนน จำนวน 52 ทุน

2.2 ทุนหมุนเวียนที่ไม่เข้าสู่ระบบการประเมินผลการดำเนินงานของกรมบัญชีกลาง จำนวน 18 ทุน ประกอบด้วย

2.2.1 ทุนหมุนเวียนที่มีกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับการประเมินผลและจัดให้มีการประเมินผลการดำเนินงาน จำนวน 9 ทุน ได้แก่ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กองทุนเพื่อการพัฒนาและเผยแพร่ประชาธิปไตย กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนพัฒนาไฟฟ้า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง

2.2.2 ทุนหมุนเวียนที่มีสถานะไม่พร้อมประเมินผลการดำเนินงาน จำนวน 9 ทุน ได้แก่ ทุนหมุนเวียนที่อยู่ระหว่างดำเนินการยุบเลิก จำนวน 3 ทุน ได้แก่ เงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาเอกชน กองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ทุนหมุนเวียนที่อยู่ระหว่างการรวม จำนวน 1 ทุน คือ กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรมจังหวัด ทุนหมุนเวียนที่จัดตั้งขึ้นใหม่และอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อม จำนวน 4 ทุน ได้แก่ กองทุนเพื่อการพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดิน กองทุนส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน กองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และทุนหมุนเวียนที่ยังไม่มีการดำเนินงานตามภารกิจและวัตถุประสงค์การจัดตั้ง จำนวน 1 ทุน คือ กองทุนเพื่อพัฒนาการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ 3. บทบาทของทุนหมุนเวียนที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

ทุนหมุนเวียนถือเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน บนพื้นฐานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) ซึ่งในปีบัญชี 2562 ทุนหมุนเวียนมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาและสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการของรัฐในด้านต่าง ๆ เช่น การปลูกฝังให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ และมีส่วนร่วมทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีประมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่พรรคการเมืองโดยมุ่งประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่าประโยชน์ส่วนตน สนับสนุนและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศในการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตรและต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ ตลอดจนส่งเสริมการทำเกษตรแบบยั่งยืนและลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ 4. ปัญหาอุปสรรคการดำเนินงานของกองทุนหมุนเวียน

4.1 คณะกรรมการและผู้บริหารทุนหมุนเวียนบางทุนยังไม่ตระหนักและให้ความสำคัญในการกำกับติดตามผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียนสม่ำเสมอ รวมทั้งไม่สามารถผลักดันให้ผลการดำเนินงานของทุนหมุนเวียนเป็นไปตามเป้าประสงค์ที่กำหนดไว้ในแผนการดำเนินงานได้

4.2 สภาพเศรษฐกิจและสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับขาดการทบทวนบทบาทและภารกิจของทุนหมุนเวียนให้สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบันทำให้ทุนหมุนเวียนบางทุนประสบปัญหาไม่สามารถดำเนินการตามแผนการดำเนินงานที่กำหนดได้

4.3 แผนการดำเนินงานของทุนหมุนเวียนบางทุนยังขาดความสมบูรณ์ในรายละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งขาดการกำหนดแนวทางการประเมินผลลัพธ์และผลกระทบจากการดำเนินงานที่ชัดเจน ส่งผลให้ไม่สามารถประเมินความคุ้มค่าและประสิทธิผลจากการดำเนินโครงการได้ 5. ข้อสังเกตการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน ประจำปีบัญชี 2562 ของคณะทำงานจัดทำบันทึกข้อตกลงและประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน

5.1 ควรมีการทบทวนวิสัยทัศน์ ให้สอดคล้องกับพันธกิจและวัตถุประสงค์จัดตั้ง และให้สอดคล้องกับความต้องการความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการกำหนดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนเพื่อรองรับและให้สามารถบรรลุวิสัยทัศน์ พันธกิจและวัตถุประสงค์จัดตั้งโดยควรมีแผนการดำเนินงานเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ ทั้งระยะสั้น และระยะยาว รวมทั้งการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดที่สะท้อนถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของแผนการดำเนินงานที่ตอบสนองตามพันธกิจและวัตถุประสงค์จัดตั้ง

5.2 ควรมีแนวทางในการสอบทานผลประเมินของตัวชี้วัดเพิ่มเติม เช่น วิธีสุ่มตรวจสอบโดยตรงกับผู้ที่ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมเพื่อให้มั่นใจได้ว่าผลลัพธ์หรือผลผลิตที่ได้เป็นไปตามที่ได้กำหนดไว้ตามวัตถุประสงค์ในการขอรับการสนับสนุนส่งเสริม

5.3 ควรทบทวนจำนวนและคุณลักษณะของทุนหมุนเวียนที่มีโครงสร้างคณะกรรมการบริหารทุนหมุนเวียนที่มีจำนวนคณะกรรมการฯ มากเกินไปซึ่งส่งผลต่อความไม่คล่องตัวในการดำเนินงานเพื่อให้โครงสร้างคณะกรรมการฯ มีความสอดคล้องกับพันธกิจและวัตถุประสงค์จัดตั้งของทุนหมุนเวียน

5.4 กรมบัญชีกลางควรทบทวนทุนหมุนเวียนที่มีวัตถุประสงค์เดียวกันหรือสามารถดำเนินการร่วมกันได้เพื่อให้มีการควบรวมหรือยุบเลิกทุนหมุนเวียน โดยเฉพาะทุนหมุนเวียนที่อยู่ในกลุ่มเกี่ยวกับด้านการเกษตร เพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรได้อย่างครบถ้วนและชัดเจน

5.5 ควรเริ่มนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินงาน เช่น การสำรวจต่าง ๆ สามารถใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ช่องทางออนไลน์ ทดแทนการสำรวจด้วยการกรอกแบบสำรวจเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ลดต้นทุนและมีระบบฐานข้อมูลที่เป็นระบบ เป็นต้น

5.6 ควรแสดงความเชื่อมโยงระหว่างประสิทธิผลของกระบวนการบริหารพัฒนาทุนหมุนเวียนกับผลลัพธ์ในการดำเนินงานของตัวชี้วัดด้านต่าง ๆ ให้ชัดเจนมากขึ้น

5.7 ควรมีการเทียบเคียง/เปรียบเทียบ (Benchmark) ผลการดำเนินงานกับหน่วยงานอื่นหรือการเทียบเคียงระหว่างหน่วยงาน

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 ธันวาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ