รายงานผลการหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น

ข่าวการเมือง Tuesday December 15, 2020 18:36 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นตามที่รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ประธานกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมเสนอ และมอบหมายให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมรับรายงานผลการหารือฯ ดังกล่าว ไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้แนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนโดยด่วน และนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

สาระสำคัญ
1. กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น นำโดย นายรุ่งเรือง ระหมันยะ นางจันทิมา ชัยบุตรดี และนายประยงค์ ดอกลำใย ได้เดินทางมาชุมนุมเรียกร้องขอให้ยกเลิกโครงการเมืองต้นแบบ ?สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน? ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ?เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต? ระหว่างวันที่ 10 - 14 ธันวาคม 2563 ณ บริเวณสะพานชมัยมรุเชษฐ์ ถนนพระราม 5 (ด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล) และมีแถลงการณ์ เรื่อง ยกเลิกโครงการอุตสาหกรรมจะนะ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2563 ดังนี้

1.1 รัฐบาลต้องยุติการดำเนินโครงการ ?จะนะเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต? ทั้งหมด รวมถึงการแก้ไขผังเมืองและการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ในทันที

1.2 เมื่อยุติการดำเนินโครงการแล้ว ขอให้รัฐบาลจัดให้มีการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) อย่างรอบคอบ เพื่อสร้างชุดข้อมูลทางวิชาการที่มีคุณภาพประกอบการตัดสินใจต่อแนวทางและโครงการพัฒนาในพื้นที่ต่าง ๆ ของภาคใต้ต่อไป 2. เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า) ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายประสาน หวังรัตนปราณี) พร้อมด้วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้พบปะและเจรจาหาข้อยุติร่วมกับกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น เกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยมีบันทึกข้อตกลงผลการเจรจา ดังนี้

2.1 รัฐบาลต้องมีมติยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ทุกฉบับ รวมทั้งยุติการดำเนินโครงการจะนะเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตทั้งหมด ทั้งการแก้ไขผังเมือง และการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ รายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กระบวนการศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ในทันที

1) คณะกรรมการผังเมือง และกรมโยธาธิการและผังเมืองต้องยกเลิกกระบวนการแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา พ.ศ. 2559 โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562

2) หน่วยงานรัฐและเอกชนเจ้าของโครงการภายใต้โครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ต้องไม่ดำเนินกระบวนการใด ๆ ที่เกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นศึกษารายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กระบวนการศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) หรือการดำเนินการอื่นใด จนกว่ากระบวนการตามข้อ 2.2 จะแล้วเสร็จ

2.2 รัฐบาลต้องจัดให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) จังหวัดสงขลา โดยมีหลักการประเมิน คือ ประเมินบนฐานทรัพยากรของพื้นที่ศักยภาพของระบบนิเวศ การประเมินจะต้องยืดถือหลักการว่าจะพัฒนาพื้นที่สงขลาบนฐานศักยภาพของทรัพยากรอย่างไร การประเมินยุทธศาสตร์เพื่อออกแบบการพัฒนาต้องคำนึงถึงการเติบโตของคนท้องถิ่นเป็นหลัก ส่วนกลุ่มทุนภายนอกเป็นปัจจัยเสริมเพื่อเข้ามาต่อยอดศักยภาพของพื้นที่ และการประเมินเชิงยุทธศาสตร์ให้ยึดหลักการกระจายรายได้ของประชาชน ความเป็นธรรมของคนและระบบนิเวศ มีการเติบโตอย่างยั่งยืน อันเป็นการสร้างชุดข้อมูลทางวิชาการที่มีคุณภาพประกอบการตัดสินใจทางเลือกการพัฒนาจังหวัดสงขลาที่เหมาะสม โดยกระบวนการจะต้องดำเนินการ ดังนี้

1) แต่งตั้งคณะทำงานซึ่งมีสัดส่วนของภาคประชาชน และนักวิชาการที่ภาคประชาชนเสนอในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อวางกรอบการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ร่วมกัน โดยกระบวนการทำงานให้ดำเนินการประเมินศักยภาพทรัพยากรและพัฒนาต่อยอดจากทรัพยากรของท้องถิ่น และในการศึกษานี้ต้องไม่มีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นผู้มีส่วนในการดำเนินการจัดทำ

2) การคัดเลือกผู้ที่จะมาดำเนินการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย และให้เป็นไปตามหลักการตามข้อ 2.2

3) ในกระบวนการศึกษา คณะอนุกรรมการกำกับติดตามและแก้ไขปัญหาโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ต้องมีการระบุหน้าที่ในการกำกับติดตาม โดยมีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลการศึกษา ตรวจสอบ และให้ข้อเสนอแนะต่อผู้ดำเนินการศึกษาได้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการข้อ 2.2

4) กระบวนการตรวจสอบและการให้ความเห็นชอบต่อรายงานการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและนักวิชาการที่ประชาชนคัดเลือกด้วย โดยให้เป็นไปตามหลักการข้อ 2.2

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 ธันวาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ