2.1 ผลการประชุมจากการระบาดของโควิด-19 ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกไปแล้วมากว่า 1 ล้านคน และส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน รายได้ การประกอบธุรกิจ การลงทุน การค้า และวิถีการดำรงชีวิตประจำวัน รวมถึงความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ผู้แทนจากธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้นำเสนอภาพรวมการรับมือกับโควิด-19 ของประเทศต่าง ๆ ซึ่งมีการใช้นโยบายการเงินและการคลังเป็นมาตรการพื้นฐาน และมีข้อเสนอแนะเพื่อการฟื้นตัวในระยะยาว เช่น การนำระบบดิจิทัลมาปรับใช้ การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนในระยะยาว และการให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด
2.2 ประสบการณ์ในการรับมือและใช้มาตรการต่าง ๆ ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ประเทศสมาชิกได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการรับมือและการใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของ โควิด-19 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้นำเสนอมาตรการที่รัฐบาลไทยใช้ในการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาต่อที่ประชุม สรุปได้ ดังนี้
2.2.1 การจัดตั้งศูนย์กลางในการบริหารจัดการด้านนโยบาย ได้แก่ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
2.2.2 มาตรการทางการเงินและการคลังเพื่อช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น เช่น การให้เงินช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการว่างงาน การขยายระยะเวลาชำระหนี้ของธนาคารพาณิชย์แก่บริษัทและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และมาตรการเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยรัฐบาลไทยได้ดำเนินมาตรการอย่างระมัดระวังภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง
2.2.3 การรักษาสมดุลระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นและการปฏิรูปโครงสร้างของประเทศในระยะยาว เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเสริมสร้างการเชื่อมโยงภายในประเทศและระหว่างประเทศ การพัฒนาการใช้ระบบดิจิทัลและนวัตกรรมทางการเงินให้ครอบคลุมทุกกลุ่มผู้ใช้งานในแต่ละกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี รวมทั้งจะได้มีการพิจารณามาตรการระยะยาวเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางทางสังคม เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
ทั้งนี้ จากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์แสดงให้เห็นว่าประเทศสมาชิกให้ความสำคัญกับการบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจและสังคม การควบคุมและป้องกันการระบาดที่ยั่งยืน และการประคับประคอบผู้ประกอบการและธุรกิจ เป็นต้น นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกยังเชื่อมั่นในการสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งและความเข้าใจอันดีระหว่างกันของ 2 ภูมิภาค
2.3 ประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับ การเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์และบทบาทของประเทศไทยในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกับต่างประเทศ รวมทั้งเป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความสามารถในการรับมือกับโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ และได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นภายหลังโควิด-19
2.4 การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเชีย-ยุโรป ครั้งต่อไป จะจัดขึ้นในปี 2565 โดยมีประเทศจากยุโรปเป็นเจ้าภาพการประชุม
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 ธันวาคม 2563