ผลการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 3

ข่าวการเมือง Tuesday December 15, 2020 18:40 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 3 และมอบหมายให้ส่วนราชการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง
นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 3 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประธานร่วมเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2563 โดยมีสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. ปฏิญญาเวียงจันทน์ของการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 3 มีสาระสำคัญไม่แตกต่างจากร่างปฏิญญาที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 อย่างไรก็ตาม มีการประเด็น ได้แก่

1.1 การยกระดับความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำ เช่น การแสดงความยินดีที่สาธารณรัฐประชาชนจีนแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านน้ำตลอดทั้งปี การเร่งรัดการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ และการส่งเสริมความร่วมมือในการเชื่อมโยงข้อมูลน้ำระหว่างกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างกับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง

1.2 การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เช่น การแสดงความชื่นชมที่สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ประกาศจัดตั้งกองทุนพิเศษด้านสาธารณสุขเพื่อสนับสนุนโครงการความร่วมมือด้านสาธารณสุข การส่งเสริมให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เป็นประโยชน์สาธารณะที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และการสนับสนุนการทำงานขององค์การอนามัยโลก

1.3 การเพิ่มสาขาความร่วมมือด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ ได้แก่ โรคระบาด การฟอกเงินอาชญากรรมทางไซเบอร์ ภัยพิบัติ และปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน

1.4 การเสริมสร้างความยั่งยืนแก่ห่วงโซ่อุปทาน ผ่านการส่งเสริมความเชื่อมโยงในทุกมิติ การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และการจัดตั้งช่องทางขนส่งสินค้าพิเศษ 2. ถ้อยแถลงของประธานร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการทำงานร่วมกันและสอดคล้องกันระหว่างกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างกับระเบียงทางการค้าเชื่อมทางบก-ทางทะเลระหว่างประเทศแห่งใหม่ เป็นเอกสารที่ปรับมาจากร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 แต่เนื่องจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามไม่พร้อมให้การรับรองสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและสาธารณรัฐประชาชนจีนจึงได้ปรับรูปแบบเอกสารเป็นถ้อยแถลงของประธานร่วมแทน อย่างไรก็ดีมีการเพิ่มข้อเสนอของไทยในการมอบหมายให้ศูนย์ระดับโลกเพื่อการศึกษาแม่น้ำโขงศึกษาผลกระทบและประโยชน์ต่อประเทศสมาชิก และเสนอผลการศึกษาต่อที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและระดับรัฐมนตรีต่อไป 3. สาระสำคัญของถ้อยแถลงของผู้นำประเทศต่าง ๆ สรุปได้ ดังนี้

1) สาธารณรัฐประชาชนจีน ให้ความสำคัญกับ (1) การบริหารจัดการน้ำ โดยแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านน้ำกับประเทศสมาชิกและเร่งดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ (2) การพัฒนาเศรษฐกิจ สนับสนุนการเพิ่มศักยภาพในการผลิตและขยายความร่วมมือด้านนวัตกรรมการเกษตร และความมั่นคงด้านอาหาร (3) ความมั่นคงด้านสาธารณสุข หากสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกเป็นลำดับแรก (4) ความเชื่อมโยง สนับสนุนการทำงานร่วมกันและสอดคล้องกันระหว่างกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างและกรอบความร่วมมืออื่น ๆ เพื่อขยายโอกาสทางเศรษฐกิจ และเตรียมการจัดตั้งช่องทางพิเศษเพื่อขนส่งสินค้าและอำนวยความสะดวกในการเดินทางที่จำเป็นในภาวะวิกฤต

2) ประเทศไทย เน้นย้ำสาขาความร่วมมือที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ ได้แก่ (1) การบริหารจัดการน้ำ เสนอให้มีการติดตามประเมินผลความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ (2) ความมั่นคงด้านสาธารณสุข เห็นพ้องกับประเทศสมาชิกกรณีให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เป็นประโยชน์สาธารณะที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ (3) ความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ สนับสนุนให้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อยสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและมีภูมิคุ้มกัน

3) ประเทศสมาชิกอื่น ๆ ประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวขอบคุณสาธารณประชาชนจีนที่ให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์และเวชภัณฑ์ในการรับมือกับโรคโควิด-19 และยินดีต่อความคืบหน้าของการดำเนินการภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง พร้อมย้ำให้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างทำงานสอดประสานกับกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาคอื่น ๆ และมีประเด็นที่ให้ความสำคัญเพิ่มเติม เช่น การศึกษาแนวคิดการสร้างระเบียงพัฒนาพัฒนาเศรษฐกิจแม่โขง-ล้านช้าง การส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก การผลักดันความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติ และการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 4. กต. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้มีการนำผลการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 3 ไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เช่น ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการยกระดับความเป็นหุ้นส่วนภายใต้กลไกความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง จึงมีประเด็นที่ต้องมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นำไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 ธันวาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ