คณะรัฐมนตรีมีมติตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการต่อร่างข้อเสนอของสิงคโปร์ เรื่องมาตรการการห้ามหรือจำกัดการส่งออกสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับโครงการอาหารโลก
2. หากมีการปรับปรุงแก้ไขเอกสารดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
3. อนุมัติให้เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก หรือผู้แทนให้การรับรองร่างข้อเสนอของสิงคโปร์ เรื่องมาตรการการห้ามหรือจำกัดการส่งออกสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับโครงการอาหารโลกในการประชุมคณะมนตรีใหญ่องค์การการค้าโลกที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 16-17 ธันวาคม 2563 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
สาระสำคัญ
เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2563 สิงคโปร์ได้นำเสนอร่างข้อเสนอเรื่องมาตรการการห้ามหรือจำกัดการส่งออกสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับโครงการอาหารโลกต่อที่ประชุมคณะกรรมการอาเซียน ณ นครเจนีวา เพื่อขอการสนับสนุน โดยมีสาระสำคัญว่า สมาชิกองค์การการค้าโลกจะไม่ใช้มาตรการห้ามหรือจำกัดการส่งออกสินค้าอาหารที่ซื้อโดยโครงการอาหารโลก ซึ่งไม่มีวัตถุประสงค์เชิงพาณิชย์และเป็นการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (Non-Commercial and Humanitarian Purchases) ขององค์การอาหารโลก และจะนำเสนอร่างข้อเสนอดังกล่าวให้ประเทศสมาชิกรับรองในการประชุมคณะมนตรีใหญ่ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 16-17 ธันวาคม 2563
ทั้งนี้ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะหน่วยงานของไทยที่ประสานงานร่วมกับโครงการอาหารโลกแจ้งว่า ที่ผ่านมาไทยได้บริจาคสินค้าประเภทอาหาร เช่น ข้าว น้ำตาล แป้งมันสำปะหลัง ให้แก่โครงการอาหารโลก อาทิ ปี 2544 ได้บริจาคข้าวจำนวน 3,000 ตัน ให้แก่อัฟกานิสถาน และในปี 2554 ได้บริจาคข้าวจำนวน 20,000 ตัน เพื่อให้ความช่วยเหลือเฮติในกรณีแผ่นดินไหว นอกจากนี้ ไทยยังได้บริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการอาหารโลก เช่น เมื่อปี 2554 ไทยบริจาคเงินจำนวน 50,000 เหรียญสหรัฐฯ เพื่อช่วยบรรเทาภาวะขาดแคลนอาหารในประเทศแอฟริกา และล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2562 ไทยในฐานะประธานอาเซียนได้มอบเงินช่วยเหลือด้านมนุษย์ธรรมผ่านโครงการอาหารโลกจำนวน 150,000 เหรียญสหรัฐฯ เพื่อใช้สนับสนุนภารกิจจำเป็นเร่งด่วนในการดูแลชีวิตความเป็นอยู่และโภชนาการของผู้พลัดถิ่นในบังคลาเทศ
โครงการอาหารโลกแจ้งว่า ได้จัดซื้อสิ่งของเพื่อการบริโภคจากไทย ดังนี้
ปี 2560
สินค้า / ปริมาณ (ตัน)
รวม 1,900
ข้าว 1,900
มูลค่า (เหรียญสหรัฐฯ)
รวม 948,800
ข้าว 948,800
ปี 2561
สินค้า / ปริมาณ (ตัน)
รวม 19,592
ข้าว 19,592
มูลค่า (เหรียญสหรัฐฯ)
รวม 9,379,906
ข้าว 9,379,906
ปี 2562
สินค้า / ปริมาณ (ตัน)
รวม 3,129
ข้าว 2,959
ทูน่ากระป๋อง 170
มูลค่า (เหรียญสหรัฐฯ)
รวม 1,919,571
ข้าว 1,621,276
ทูน่ากระป๋อง 298,295
เมื่อนำปริมาณที่โครงการอาหารโลกซื้อทั้งหมดเปรียบเทียบกับปริมาณที่โครงการอาหารโลกซื้อจากไทย ระหว่างปี 2560-2562 จะพบว่า โครงการอาหารโลกซื้อสินค้าจากไทย ได้แก่ ข้าว และทูน่ากระป๋อง มีสัดส่วนระหว่างร้อยละ 0.29-ร้อยละ 5.37 ของการจัดซื้อสินค้าดังกล่าวทั้งหมด ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่น้อย เนื่องจากโครงการอาหารโลกให้ความสำคัญสูงสุดกับการจัดซื้อภายในพื้นที่เพื่อลดค่าใช้จ่ายและระยะทางในการขนส่งไปยังประเทศที่ขอรับการช่วยเหลือ ซึ่งสินค้าไทยมีคุณภาพและราคาค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ไทยจึงไม่ใช่แหล่งการจัดซื้ออาหารที่สำคัญของโครงการอาหารโลก ดังนั้น การยกเว้นมาตรการการห้ามหรือจำกัดการส่งออกสินค้าเกษตร ที่เกี่ยวข้องกับโครงการอาหารโลกจึงไม่น่าจะมีผลกระทบต่อปริมาณอาหารในประเทศของไทยอย่างมีนัยสำคัญ
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 ธันวาคม 2563