ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ข่าวการเมือง Wednesday December 23, 2020 09:05 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สผ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

ทั้งนี้ สผ. เสนอว่า

1. โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 180 บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน ตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดี และเทียบเท่า และทรงให้พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่กรณีพ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย เกษียณอายุ หรือพ้นจากราชการเพราะถูกลงโทษ แต่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. 2554 มาตรา 42 (2) บัญญัติให้การแต่งตั้งข้าราชการรัฐสภาสามัญ ตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ ต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง และมาตรา 86 บัญญัติให้การออกจากราชการของข้าราชการรัฐสภาสามัญที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่ออกจากราชการเพราะความตาย ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบ กรณีจึงไม่สอดคล้องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 180 เนื่องจากเป็นกฎหมายซึ่งตราขึ้นก่อนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมีผลใช้บังคับ จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. 2554 ในมาตรา 42 และมาตรา 86 ที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งและการให้พ้นจากตำแหน่งของข้าราชการรัฐสภาสามัญให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

2. คณะกรรมการข้าราชการรัฐสภา ในคราวประชุม ครั้งที่ 7/2563 วันที่ 20 กรกฎาคม 2563 ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการข้าราชการรัฐสภากฎหมายและระเบียบ (อ.กร. กฎหมายและระเบียบ) ด้วยแล้ว

3. สผ. ได้ดำเนินการตามแนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ผ่านทางเว็บไซต์ www.parliament.go.th ระหว่างวันที่ 5 สิงหาคม 2563 ถึงวันที่ 29 สิงหาคม 2563 และจัดให้มีการส่งความเห็นทางระบบสอบถามและระบบประเมินออนไลน์ของสำนักงานสารสนเทศ รวมทั้งได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2562) เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 และได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบแล้ว โดยร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะเกิดผลกระทบและประโยชน์ ดังนี้

3.1 ผลประโยชน์แก่ประเทศ สังคม และประชาชน ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการให้บริการประชาชน และมิได้เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน แต่การแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินการแต่งตั้งและการให้พ้นจากตำแหน่งของข้าราชการรัฐสภาสามัญดังกล่าว จะส่งผลให้ส่วนราชการมีแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมาย จะช่วยให้การดำเนินการในเรื่องดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง ชัดเจน และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ลดปัญหาการตีความข้อกฎหมาย

3.2 ความพร้อมและต้นทุนของรัฐในการปฏิบัติตามและบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ร่างพระราชบัญญัตินี้ไม่มีอัตรากำลังคนที่ต้องใช้เพิ่ม เนื่องจากเป็นกรณีที่ส่วนราชการต้องดำเนินการตามกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งและการให้พ้นจากตำแหน่งของข้าราชการรัฐสภาสามัญอยู่แล้ว เพียงแต่ปรับขั้นตอนในการดำเนินการหรือเสนอเรื่อง

จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. 2554 ดังนี้

1. กำหนดให้การบรรจุและแต่งตั้งให้ข้าราชการรัฐสภาสามัญดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ ให้ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภา แล้วแต่กรณี นำเสนอคณะกรรมการข้าราชการรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการข้าราชการรัฐสภาแล้ว ให้ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภา แล้วแต่กรณี เป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง

2. กำหนดให้การออกจากราชการของข้าราชการรัฐสภาสามัญผู้ดำรงตำแหน่งที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันออกจากราชการ เว้นแต่ออกจากราชการเพราะความตาย เกษียณอายุ หรือออกจากราชการเพราะถูกลงโทษ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 ธันวาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ