คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วนแล้วดำเนินการต่อไปได้
1. เนื่องจากในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจ ทำให้แรงงานโดยเฉพาะครอบครัวมีรายได้ลดลง หรือไม่มีรายได้ ต้องหยุดงานหรือต้องออกจากงาน ในขณะที่รายจ่ายเกี่ยวกับเด็กแรกเกิดเป็นรายจ่ายที่จำเป็น ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาภาระของผู้ประกันตนให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร พ.ศ. 2561 เพื่อจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร โดยจ่ายให้กับผู้ประกันตนซึ่งเป็นลูกจ้างตามมาตรา 33 และผู้เคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และประสงค์จะเป็นผู้ประกันตนต่อไปตามมาตรา 39
2. ในคราวประชุมคณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา (ชุดที่ 13) ครั้งที่ 20/2563 เมื่อวันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม 2563 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการการปรับเพิ่มประโชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร จากเดิมเหมาจ่ายในอัตรา 600 บาท ต่อเดือนต่อบุตร 1 คน เป็นเหมาจ่ายในอัตรา 800 บาทต่อเดือนต่อบุตร 1 คน โดยให้ดำเนินการเสนอเพื่อแก้ไขกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร พ.ศ. 2561 ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 และคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงแรงงานได้ตรวจพิจารณาร่างกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เสร็จเรียบร้อยแล้ว ในการประชุมครั้งที่ 8/2563 เมื่อวันพุธที่ 2 ธันวาคม 2563 และได้รับรองมติการประชุมแล้ว
3. รง. ได้ดำเนินการตามมาตรา 7 และมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยสัดส่วนการใช้จ่ายเงินกองทุนประกันสังคมในกรณีสงเคราะห์บุตร โดยการจัดเก็บเงินสมทบในอัตราร้อยละ 1 (รัฐบาล) ของค่าจ้าง มีการใช้จ่ายในอัตราร้อยละ 0.62 ยังมีเงินคงเหลือในกองทุนกรณีสงเคราะห์บุตรในอัตราร้อยละ 0.38 การเพิ่มประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรจะทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.62 ของค่าจ้างเป็นร้อยละ 0.82 ของค่าจ้างในปี พ.ศ. 2564 ทำให้เหลือเงินสำรองสำหรับการจ่ายบำนาญชราภาพลดลงเหลือร้อยละ 0.18 ซึ่งการเพิ่มประโยชน์ทดแทนสงเคราะห์บุตรดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อกองทุนประกันสังคมในส่วนของเงินชราภาพอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ การเพิ่มประโยชน์ทดแทนในกรณีดังกล่าวจะส่งผลดีต่อผู้ประกันตนเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรของผู้ประกันตน ซึ่งส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้ประกันตนดีขึ้น และจะทำให้ค่าใช้จ่ายกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้น แต่ไม่มีผลกระทบต่อกองทุนประกันสังคม
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
1. เพิ่มอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเป็นเงิน ?จากเดิมในอัตรา 600 บาทต่อเดือนต่อบุตร 1 คน? เป็นในอัตรา ?800 บาท ต่อเดือนต่อบุตร 1 คน?
2. กำหนดให้ใช้บังคับสำหรับการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป
3. ผู้ใดมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรตามกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร พ.ศ. 2561 และยังคงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรตามกฎกระทรวงนี้ ให้ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้ นับตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 ธันวาคม 2563