คณะรัฐมนตรีรับทราบความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนพฤศจิกายน 2563 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเสนอ
1.1 ความก้าวหน้ายุทธศาสตร์ชาติและการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
ในการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ที่ประชุมมีมติ ดังนี้
- เห็นชอบ (ร่าง) แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ. 2564-2565 (ฉบับสมบูรณ์) ภายใต้แนวคิด ?ล้มแล้ว ลุกไว? โดยมี 4 ประเด็นการพัฒนาที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ในระยะ 2 ปีข้างหน้า ได้แก่ (1) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ (2) การยกระดับขีดความสามารถของประเทศ รองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว (3) การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ และ (4) การปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินการขับเคลื่อนแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ ไปสู่การปฏิบัติ โดยให้หน่วยงานของรัฐใช้แผนดังกล่าวเป็นกรอบในการจัดทำโครงการ/การดำเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 รวมทั้งให้สำนักงบประมาณ (สงป.) ใช้เป็นกรอบจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ร่วมกับแผนแม่บทฯ ทั้ง 23 ประเด็นต่อไป (คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563)
- เห็นชอบแนวทางการจัดทำแผนระดับที่ 3 ที่เป็นแผนปฏิบัติการด้าน ... ประกอบด้วย (1) หลักการ (2) ความจำเป็น (3) สาระสำคัญ (4) การดำเนินการภายหลังแผนได้รับการประกาศใช้ และ (5) การขอยกเว้นการเสนอแผนปฏิบัติการตามมติคณะรัฐมนตรี (4 ธันวาคม 2560)
1.2 ความก้าวหน้าแผนการปฏิรูปประเทศ
- ในการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ทั้ง 13 ด้าน โดยมีกิจกรรมปฏิรูปที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) รวมทั้งสิ้น 62 กิจกรรม กฎหมายที่ต้องจัดทำหรือปรับปรุง รวมทั้งสิ้น 45 ฉบับ พร้อมทั้งเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) เมื่อแผนประกาศใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย
(1) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกิจกรรมแผนปฏิรูปฉบับเดิม ในลักษณะภารกิจปกติของหน่วยงานควบคู่กับการดำเนินกิจกรรม Big Rock
(2) ให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักตามกิจกรรม Big Rock ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานของหน่วยงาน
(3) ให้ สงป. ให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณโครงการภายใต้กิจกรรม Big Rock เพื่อให้เกิดการแปลงแผนการปฏิรูปประเทศไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม
(4) ให้ สศช. และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศมีหน้าที่ในการขับเคลื่อนและติดตามในระดับนโยบาย และให้พัฒนาระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) เพื่อประเมินผลการดำเนินงาน/โครงการที่ดำเนินการภายใต้กิจกรรม Big Rock ของแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) และให้สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดองทำหน้าที่ขับเคลื่อนและติดตามในระดับปฏิบัติการ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนการปฏิรูปประเทศต่อไป [คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) แล้วเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563]
1.3 ผลการดำเนินการอื่น ๆ
- รายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (เดือนเมษายน-มิถุนายน 2563) ต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เมื่อวันที่ 4 และ 30 พฤศจิกายน 2563 และอยู่ระหว่างจัดทำรายงานความคืบหน้าฯ (เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2563) โดยจะแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของยุทธศาสตร์ชาติกับเรื่องและประเด็นปฏิรูปภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศและกิจกรรมที่มีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมและเห็นผลในเชิงปฏิรูป
- ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ โดยการตรวจสอบการนำเข้าข้อมูลสู่ระบบ eMENSCR พบว่า จำนวนแผนที่หน่วยงานนำเข้าแผนยังน้อยกว่าจำนวนหน่วยงานของรัฐอย่างเป็นนัยสำคัญ ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 3/2563 ที่ประชุมจึงได้มีมติให้ สศช. เร่งสร้างความเข้าใจกับหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากระบบ eMENSCR นอกจากนี้ สศช. ได้พัฒนาระบบ eMENSCR ในส่วนของการบริหารจัดการข้อมูลผู้ใช้ให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น และประสานหน่วยงานซึ่งมีโครงการสำคัญประจำปี 2565 ให้จัดทำรายละเอียดโครงการให้มีความครบถ้วน สมบูรณ์ เพื่อให้ สงป. ใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณและติดตาม ตรวจสอบ และประเมิณผลการได้รับการจัดสรรงบประมาณต่อไป รวมทั้งอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการการพัฒนาแพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ (Super eMENSCR) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนระดับต่าง ๆ
- อยู่ระหว่างจัดทำสื่อวีดิทัศน์โครงการสร้างการตระหนักรู้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยถ่ายทอดเรื่องราวการทำความดีสอดแทรกแนวทางการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ และเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ จำนวน 5 ตอน ประกอบด้วย (1) สุดยอดวัยรุ่นยุคใหม่เมืองสุพรรณฯ ใช้เวลาว่างเป็นสัปเหร่อจิตอาสา (2) ศูนย์อาสาสมัครศิริราช (3) ตัดผมไปบริจาคเพื่อทำวิกให้แก่ผู้ป่วยมะเร็ง (4) เปิดใจ ?2 หนุ่มนักท่องเที่ยว? เดินหิ้วกระสอบ เก็บขยะตามชายหาดอ่าวนาง จังหวัดกระบี่ และ (5) อาสาตอบจดหมาย ตอบจดหมายนักเรียนทุนมูลนิธิยุวพัฒน์
ประเด็นท้าทายที่มีความเสี่ยงสูงในการบรรลุเป้าหมาย คือ การเร่งรัดปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง พัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและกระบวนการทำงาน สร้างความพร้อมให้แก่บุคลากร เพื่อรองรับการปฏิบัติงานและการก้าวสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล เนื่องจากปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งยังกำหนดให้มีการจัดส่งเอกสารในรูปแบบกระดาษเพื่อใช้ประกอบการดำเนินการต่าง ๆ เช่น เอกสารประกอบการประชุม การอนุมัติ ซึ่งเป็นข้อจำกัดต่อการปรับเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 ธันวาคม 2563