รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3/2563 และแนวโน้มไตรมาสที่ 4/2563 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนตุลาคม 2563

ข่าวการเมือง Tuesday December 29, 2020 18:46 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3/2563 และแนวโน้มไตรมาสที่ 4/2563 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนตุลาคม 2563 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอดังนี้

สาระสำคัญ

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3/2563 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 8.3 โดยปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งยังคงมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวรวมถึงผลกระทบจากถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัวในไตรมาสที่ 3/2563 อาทิ การผลิตรถยนต์ ภาวะการผลิตลดลงจากสินค้าเกือบทุกรายการสินค้า ยกเว้นรถยนต์นั่งขนาดใหญ่ รถตรวจการณ์ปัจจัยหลัก มาจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ตลาดส่งออกรถยนต์ปรับลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าได้รับผลกระทบอย่างมากและฟื้นตัวได้อย่างช้า ๆ รวมถึงตลาดในประเทศปรับตัวลดลงเช่นกัน การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม การผลิตลดลง เนื่องจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศและส่งออกในปีนี้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงไปโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ทำให้การขนส่งเดินทางของผู้คนทั้งที่เป็นการเดินทางระหว่างประเทศและในประเทศลดลง การผลิตน้ำตาล ลดลงเนื่องจากปีนี้ปิดหีบการผลิตเร็วกว่าปีก่อน จากสภาพอากาศที่แห้งแล้ง และพื้นที่ปลูกอ้อยลดลง สำหรับอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวดีในไตรมาสที่ 3/2563 อาทิ การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ภาวะการผลิตเพิ่มขึ้นในเกือบทุกสินค้า (ยกเว้นพัดลมตามบ้าน) จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศ ที่ผ่อนคลายลงรวมถึงปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบคลี่คลายลงเช่นกัน อีกทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปมีความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีนวัตกรรมเพิ่มขึ้น การผลิตเภสัชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ภาวะการผลิตเพิ่มขึ้นทุกรายการสินค้าจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องมีการผลิตยาสำรองไว้ให้เพียงพอต่อการรักษา

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนตุลาคม 2563 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ขยายตัวร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า)

อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนตุลาคม 2563 หดตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน คือ

1. รถยนต์ และเครื่องยนต์ หดตัวร้อยละ 3.32 จากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังคงชะลอตัวจากผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้การส่งออกรวมยังคงลดลง อย่างไรก็ตามตลาดในประเทศเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น จากรถบรรทุกปิคอัพ เครื่องยนต์ และรถยนต์นั่งขนาดเล็ก

2. เสื้อผ้าสำเร็จรูป หดตัวร้อยละ 17.21 จากตลาดในประเทศ และตลาดส่งออกที่ลดลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจในประเทศและประเทศคู่ค้า เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นชะลอตัว และผู้ผลิตบางรายยังคงหยุดผลิตชั่วคราว

3. อาหารทะเลแช่แข็ง หดตัวร้อยละ 14.14 จากการผลิตกุ้งและปลาแช่แข็งที่ลดลง ส่วนหนึ่งมาจากการลดปริมาณการเลี้ยงกุ้งของเกษตรกร

อุตสาหกรรมสำคัญที่ยังขยายตัวในเดือนตุลาคม 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

1. การกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.45 เนื่องจากโรงกลั่น 2 ราย หยุดซ่อมบำรุงใหญ่ในปีก่อน แต่ปีนี้เป็นการซ่อมบำรุงเพียงบางหน่วยและเริ่มกลับมาผลิตตามปกติแล้ว

2. ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.07 ตามความต้องการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โลกที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น รวมถึงยังมีความไม่แน่นอนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ช่วงนี้ยังมีการเร่งผลิตและส่งมอบ

แนวโน้มอุตสาหกรรมสาขาสำคัญไตรมาสที่ 4/2563

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.9 เนื่องจาก Semiconductor devices transistor เป็นสารกึ่งตัวนำที่ใช้ผลิตอุปกรณ์เล็กทรอนิกส์ประเภทโซลาร์เซลล์ ซึ่งปัจจุบันมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงความต้องการ HDD ในการพัฒนาระบบเทคโนโลยี 5G และผลิตภัณฑ์สำหรับโครงสร้างพื้นฐานทาง IT ทำให้ยังคงมีความต้องการเพิ่มขึ้น

อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ คาดว่า ผลิตภัณฑ์กระดาษ (กระดาษแข็ง กระดาษลูกฟูก และกระดาษคราฟต์) ที่ใช้ผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของกลุ่มอาหาร อาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม ขณะเดียวกันบรรจุภัณฑ์กระดาษในยุค New Normal จะขยายตัวค่อนข้างมากแบบก้าวกระโดด จากอานิสงส์ของการสั่งสินค้าทางออนไลน์

อุตสาหกรรมยา คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 9.74 ตามแนวโน้มการขยายตัวที่ดีของตลาดทั้งในและต่างประเทศ สำหรับการส่งออกคาคว่าจะขยายตัวได้ดีในตลาดอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนาม เมียนมา และลาว

อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตยางรถยนต์ คาดว่าจะหดตัวลงร้อยละ 17.18 ตามการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศและเศรษฐกิจโลก ในขณะที่การผลิตถุงมือยางคาคว่าจะขยายตัวร้อยละ 24.76 ตามแนวโน้มความต้องการใช้ที่สูงขึ้น สำหรับการผลิตยางแปรรูปขั้นปฐมคาดว่าจะหดตัวลงร้อยละ 5.00 ตามแนวโน้มความต้องการใช้ทั้งในและต่างประเทศที่ลดลง

อุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าดัชนีผลผลิตในภาพรวมจะหดตัวลง จากปัจจัยลบได้แก่ วัตดุดิบสินค้าเกษตรลดลงจากปัญหาภัยแล้ง เช่น อ้อย และมันสำปะหลัง ทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการผลิตของโรงงาน อย่างไรก็ตามการบริโภคในประเทศมีแนวโน้มดีขึ้นจากการเปิดให้นักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ หรือ Special Tourist Visa เข้ามาพำนักระยะยาวในไทย รวมถึงมาตรการกระตุ้นการบริโภคจากภาครัฐ สำหรับมูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มหดตัวเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และมาตรการคุมเข้มเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในกลุ่มประเทศยุโรปอย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ระบาดรอบที่ 2 ของโควิด-19 ในหลายประเทศ ผลิตภัณฑ์อาหารบางชนิดอาจขยายตัว เช่น อาหารสำเร็จรูป (บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ทูน่าและซาร์ดีนกระป๋อง) นม สิ่งปรุงรส และอาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูป ตามความต้องการของตลาดต่างประเทศ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 ธันวาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ