ผลการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 27 และการประชุมร่วมระหว่างคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง กับกลุ่มหุ้นส่วนการพัฒนา ครั้งที่ 25

ข่าวการเมือง Tuesday December 29, 2020 19:50 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 27 และ การประชุมร่วมระหว่างคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง กับกลุ่มหุ้นส่วนการพัฒนา ครั้งที่ 25 เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 ผ่านระบบทางไกลตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเสนอ

สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1) แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำอย่างยั่งยืนในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ที่ประชุมรับทราบการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำฯ ซึ่งแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำอย่างยั่งยืนในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง พ.ศ. 2563 ได้รับการปรับปรุงจากวาระเพื่อพิจารณา อนุมัติ เป็นวาระเพื่อทราบ เนื่องจาก สปป.ลาว ได้ขอปรับปรุงถ้อยคำและข้อความในแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประเด็นเกี่ยวกับ การลดผลกระทบข้ามพรมแดน อันเกิดจากการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงสายประธาน ทั้งนี้ สปป.ลาว จะหารือในรายละเอียดที่ขอปรับปรุงกับสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หลังจากได้หารือภายในร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ สปป.ลาว แล้ว

2) แผนยุทธศาสตร์การจัดการสินทรัพย์ด้านสิ่งแวดล้อมของลุ่มแม่น้ำโขง ที่ประชุมอนุมัติ แผนยุทธศาสตร์การจัดการสินทรัพย์ฯ โดยประเทศไทยเสนอ 3 โครงการ 1) แม่น้ำสงครามตอนล่าง จังหวัดนครพนม 2) เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย เวียงหนองล่ม และบริเวณแม่น้ำโขงสายประธานจังหวัดเชียงราย และ 3) อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดสระบุรี นครราชสีมา ปราจีนบุรี และนครนายก ซึ่งประเทศไทยแจ้งต่อที่ประชุมฯ ว่าในส่วนของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติทับลาน ประเทศไทยจะดำเนินการเองภายใต้แผนการดำเนินการระดับประเทศ (National Indicative Plan: NIP) เนื่องจากเป็นพื้นที่อ่อนไหวและต้องการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

3) การสรรหาตำแหน่งผู้บริหารของสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ที่ประชุมอนุมัติร่างขอบเขตงาน (Term of Reference, TOR) และกรอบระยะเวลาการคัดเลือกหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ของสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมมาธิการแม่น้ำโขง เนื่องจากหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริการของสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงคนปัจจุบันจะหมดวาระในเดือนมกราคม 2565 และตามข้อตกลงของคณะมนตรี ผู้จะมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ต้องมีสัญชาติลาว ดังนั้น สำนักงานเลขาธิการฯ จึงขอความเห็นชอบในการปรับปรุง TOR ของหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารใหม่ให้สอดคล้องกับข้อตกลงของคณะมนตรีในส่วนของสัญชาติและระยะเวลาดำรงตำแหน่ง

4) แผนแม่บทการคมนาคมขนส่งทางน้ำ (The MRC?s Navigation Master Plan) ที่ประชุมอนุมัติร่างแผนแม่บทฯ ซึ่งมีประโยชน์ต่อประเทศไทย และสอดรับกับนโยบายยุทธศาสตร์การพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางน้ำในลุ่มน้ำโขงระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก โดยมีกรมเจ้าท่าเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานตามร่างแผนแม่บทฯ

5) แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2564 ? 2573 และแผนยุทธศาสตร์องค์กรคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง พ.ศ. 2564 ? 2568 ที่ประชุมอนุมัติแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาฯ และแผนยุทธศาสตร์องค์กรฯ เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินงานและจัดทำแผนปฏิบัติการของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง

6) แผนการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ประจำปี พ.ศ. 2564 ? 2565 ที่ประชุมอนุมัติแผนการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการฯ โดยประเทศไทยขอให้สำนักงานเลขาธิการฯ เร่งดำเนินการจัดทำรายงานประจำปี 2563 และรายงานผลการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มน้ำโขง พ.ศ. 2559 ? 2563

ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงสนับสนุนการทำงานของประธานกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ซึ่งจะดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ประจำปี 2564 ถัดจาก สปป. ลาว

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 ธันวาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ