1.1 แผนงานระดับภูมิภาคด้านบรรทัดฐานของรัฐในเรื่องความรับผิดชอบบนโลก ไซเบอร์ โดยสหพันธรัฐมาเลเซียและสาธารณรัฐสิงคโปร์เป็นผู้รับผิดชอบจัดทำร่างแผนงานดังกล่าวซึ่งจะระบุรายละเอียดของความสัมพันธ์ของบรรทัดฐานของรัฐในเรื่องความรับผิดชอบบนโลกไซเบอร์ 11 ข้อ โดยอ้างอิงจากรายงานของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญของรัฐเกี่ยวกับการพัฒนาสาขาสารสนเทศและโทรคมนาคมในบริบทของความมั่นคงระหว่างประเทศภายใต้สหประชาชาติ ทั้งนี้ สหพันธรัฐมาเลเซียได้นำร่างแผนงานดังกล่าวไปหารือในการประชุมคณะกรรมการประสานงานอาเซียนด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แล้วเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563
1.2 การสร้างความเข้มแข็งของภูมิภาคผ่านการปกป้องโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้นำเสนอผลการดำเนินโครงการ ASEAN Critical Information Infrastructure Protection Framework ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการจำแนกโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อให้สามารถกำหนดกลยุทธ์ในการป้องกันภัยคุกคามทาง ไซเบอร์ โดยจากการศึกษาพบว่า การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันในด้านคมนาคมขนส่งมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ข้ามพรมแดนค่อนข้างสูง ทั้งนี้ ประเทศไทยมีข้อเสนอแนะให้ประเทศสมาชิกอาเซียนยกระดับความร่วมมือเพื่อหาแนวทางและกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ผ่านข้อริเริ่มที่มีอยู่แล้วในกรอบอาเซียน เช่น การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างศูนย์อาเซียน - สิงคโปร์ ว่าด้วยความเป็นเลิศด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
1.3 แถลงการณ์ของประธานในการประชุมฯ มีสาระสำคัญ เช่น การตระหนักถึงความสำคัญของการจัดทำแผนงานระดับภูมิภาคด้านบรรทัดฐานของรัฐในเรื่องความรับผิดชอบบนโลกไซเบอร์ การปกป้องโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศจากภัยคุกคามไซเบอร์ การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในภูมิภาค และความคืบหน้าของการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานอาเซียนด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ 2. การประชุมหารือระหว่างรัฐมนตรีอาเซียนด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และประเทศคู่เจรจาอาเซียน มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
2.1 การดำเนินงานตามบรรทัดฐานของรัฐในเรื่องความรับผิดชอบบนโลกไซเบอร์ 11 ข้อ โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญของรัฐเกี่ยวกับการพัฒนาสาขาสารสนเทศและโทรคมนาคมในบริบทของความมั่นคงระหว่างประเทศภายใต้สหประชาชาติได้จัดประชุมหารือกับหน่วยงานและองค์กรระดับภูมิภาคเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางและข้อกังวลในการดำเนินงานตามบรรทัดฐานของรัฐในเรื่องความรับผิดชอบบนโลกไซเบอร์ 11 ข้อ รวมถึงการนำบรรทัดฐานของรัฐในเรื่องความรับผิดชอบบนโลกไซเบอร์มาพิจารณาเกี่ยวกับการจัดทำกฎหมายในประเทศและระหว่างประเทศ
2.2 การกล่าวถ้อยแถลงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เช่น การผลักดันให้เกิดการส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในความปกติใหม่และการเชิญชวนประเทศสมาชิกอาเซียนให้ส่งผู้แทนเข้าร่วมการฝึกอบรมออนไลน์ของศูนย์อาเซียน - ญี่ปุ่นว่าด้วยการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งได้จัดอบรมไปแล้วในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2563
2.3 การให้ความสำคัญในหลักการ ?4p? ในการดำเนินงานความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ประกอบด้วย
2.3.1 ?principle? ความมุ่งมั่นในการดำเนินการตามบรรทัดฐานของรัฐในเรื่องความรับผิดชอบบนโลกไซเบอร์
2.3.2 ?practice? การแปลงนโยบายหรือหลักการสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
2.3.3 ?process? กระบวนการดำเนินงานในการขับเคลื่อนการปฏิบัติตามบรรทัดฐานของรัฐในเรื่องความรับผิดชอบบนโลกไซเบอร์ผ่านการเสริมสร้างความร่วมมือทั้งในระดับพหุภาคีและระดับภูมิภาค
2.3.4 ?people partnership and pandemic? การเสริมสร้างความเข้มแข็งของหุ้นส่วนความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาหรือองค์กรภายนอกอาเซียนเพื่อรับมือกับโลกไซเบอร์ที่มีความท้าทายเกิดขึ้นใหม่ในปัจจุบัน รวมถึงช่วงสถานการณ์โควิด-19 อย่างมีองค์รวม 3. การหารือทวิภาคีระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสื่อสารและสารสนเทศของสิงคโปร์ (ผ่านระบบการประชุมทางไกล) เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 มีสาระสำคัญ เช่น ความคืบหน้าในการจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งคาดว่าจะสามารถลงนามได้ในเดือนมกราคม 2564 ความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรไซเบอร์ การแลกเปลี่ยนข้อกฎหมาย ประสบการณ์ และการดำเนินการในเรื่องการจัดการการเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม และการแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5G
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 ธันวาคม 2563