เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับนั่งร้านและค้ำยัน พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงรวม 2 ฉบับ ประกอบด้วย 1) ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับนั่งร้านและค้ำยัน พ.ศ. .... และ 2) ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
สาระสำคัญ
- กำหนดบทนิยาม คำว่า ?นั่งร้าน? ?ค้ำยัน? ?ค่าความปลอดภัย? และ ?วิศวกร?
- กำหนดให้นายจ้างจัดและดูแลให้ลูกจ้างสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่เหมาะสมกับสภาพของการทำงานกับนั่งร้านและค้ำยัน
- กำหนดให้นายจ้างจัดให้มีนั่งร้านที่มีความมั่นคงแข็งแรง ปฏิบัติตามรายละเอียดคุณลักษณะและคู่มือการใช้นั่งร้านที่ผู้ผลิตกำหนด
- กำหนดให้การสร้าง ประกอบ หรือติดตั้งค้ำยัน ให้นายจ้างปฏิบัติตามรายละเอียดคุณลักษณะ และคู่มือการใช้ค้ำยันที่ผู้ผลิตกำหนด และจัดให้มีการคำนวณออกแบบและควบคุมโดยวิศวกร
- กำหนดให้ในกรณีที่ใช้ค้ำยันรองรับการเทคอนกรีต อุปกรณ์ เครื่องจักรหรือรองรับสิ่งอื่นใดที่มีลักษณะคล้ายกัน นายจ้างต้องควบคุมดูแลมิให้บุคคลซึ่งไม่เกี่ยวข้องเข้าไปอยู่ในหรือใต้บริเวณนั้น
สาระสำคัญ
- กำหนดบทนิยาม คำว่า ?งานก่อสร้าง? ?อาคาร? ?เขตก่อสร้าง? และ ?เขตอันตราย?
- กำหนดให้ก่อนเริ่มงานก่อสร้างให้นายจ้างแจ้งข้อมูลงานก่อสร้างต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ดำเนินการให้พื้นที่ก่อสร้างมีความมั่นคงแข็งแรงจัดให้มีแสงสว่างฉุกเฉินในเขตก่อสร้าง ติดหรือตั้งป้ายสัญลักษณ์เตือนอันตรายและเครื่องหมายบังคับเกี่ยวกับความปลอดภัยที่เหมาะสมกับลักษณะงาน กำหนดบริเวณเขตก่อสร้างและเขตอันตรายในเขตก่อสร้าง
- กำหนดให้งานเจาะและงานขุด การเจาะหรือขุดรู หลุม บ่อ คู หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน นายจ้างต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันมิให้ลูกจ้างหรือบุคคลอื่นได้รับอันตรายจากการเจาะหรือขุดดังกล่าว ในกรณีที่ใช้ปั้นจั่นหรือเครื่องจักรหนักปฏิบัติงานต้องจัดให้มีการป้องกันดินพังทลาย และนายจ้างต้องมิให้ลูกจ้างลงไปทำงานในรู หลุม บ่อ คู หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะเดียวกันที่มีขนาดกว้างน้อยกว่า 75 เซนติเมตร และมีความลึกตั้งแต่ 2 เมตรขึ้นไป
- กำหนดให้งานก่อสร้างที่มีเสาเข็มและกำแพงพืด ในการประกอบ ติดตั้ง ทดสอบ ตรวจสอบ ใช้ ซ่อมบำรุง เคลื่อนย้าย และรื้อถอนเครื่องตอกเสาเข็มหรือเครื่องขุดเจาะ นายจ้างต้องปฏิบัติตามรายละเอียดคุณลักษณะและคู่มือการใช้งานที่ผู้ผลิตกำหนด
- กำหนดให้ลิฟต์ชั่วคราวที่ใช้งานก่อสร้าง ในการสร้าง ประกอบ ติดตั้ง ทดสอบ ตรวจสอบ ใช้ ซ่อมบำรุง และรื้อถอน ลิฟต์ขนส่งวัสดุชั่วคราว ลิฟต์โดยสารชั่วคราว นายจ้างต้องปฏิบัติตามรายละเอียดคุณลักษณะและคู่มือการใช้งานที่ผู้ผลิตกำหนด
- กำหนดให้ในงานก่อสร้างที่มีทางเดินชั่วคราวยกระดับสูงตั้งแต่ 1.50 เมตรขึ้นไป นายจ้างต้องจัดให้มีการสร้างทางเดินด้วยวัสดุที่มีความแข็งแรงสามารถรองรับน้ำหนักบรรทุกจรได้ และมีราวกันตกตามมาตรฐาน
- กำหนดให้นายจ้างต้องจัดให้มีคู่มือการปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัยในการทำงานในอุโมงค์ และจัดให้ลูกจ้างได้รับการอบรมก่อนเข้าทำงาน อบรมทบทวนหรืออบรมประจำไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง ในการขุดเจาะอุโมงค์
- กำหนดให้ก่อนลูกจ้างทำงานก่อสร้างในน้ำ ให้นายจ้างจัดทำแผนการปฏิบัติงาน แผนฉุกเฉิน และจัดให้มีการอบรมและฝึกซ้อมตามแผนฉุกเฉิน จัดให้มีอุปกรณ์ช่วยชีวิต
- กำหนดให้การรื้อถอนหรือทำลายสิ่งก่อสร้าง นายจ้างต้องกำหนดขั้นตอนและวิธีการรื้อถอนทำลายให้เหมาะสมกับลักษณะงาน จัดการอบรมหรือชี้แจงลูกจ้างเกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการรื้อถอนทำลายก่อนที่จะเริ่มปฏิบัติงาน
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 มกราคม 2564