คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ ผลการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (คณะกรรมการฯ) ครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 มาตรา 11 (3) ที่บัญญัติให้คณะกรรมการฯ เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการดำเนินงานตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1.1 โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล โดยได้เปิดให้บริการโครงข่ายเน็ตประชารัฐไปยังบ้านเรือนประชาชนทั่วประเทศแล้ว จำนวน 255,660 สมาชิก (ข้อมูล ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2563) รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน ดังนี้
การดำเนินการ
การจัดหาอุปกรณ์เพิ่มความจุโครงข่ายเชื่อมโยงไปยังชายแดนเชื่อมต่อกับราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ขนาดความจุรวม 2,300 Gbps ดำเนินการแล้วเสร็จ ร้อยละ 99
การขยายความจุโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ ดำเนินการแล้วเสร็จ ร้อยละ 100
การสร้างโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศเส้นใหม่ รวม 200 Gbps ซึ่งได้มีการลงนามข้อตกลงเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 และจะก่อสร้างแล้วเสร็จในอีก 32 เดือน (ภายในปีงบประมาณ 2565) ดำเนินการแล้วเสร็จ ร้อยละ 48
1.2 การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล โดยดำเนินโครงการ Village e-Commerce เพื่อศึกษาวิจัยบทบาทหน้าที่ของศูนย์ดิจิทัลชุมชนกับการสร้างประโยชน์เชิงเศรษฐกิจและให้ความรู้แก่ประชาชนและ
ผู้ประกอบการในชุมชนเพื่อส่งเสริมให้เกิดการค้าขายในรูปแบบออนไลน์ ทั้งนี้ ประเทศไทย (ไทย) ถูกจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลอยู่ในอันดับที่ 39 จาก 63 ประเทศ ซึ่งดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา 1 อันดับ
1.3 การขับเคลื่อนสังคมดิจิทัล เช่น การพัฒนาระบบส่งข้อมูลสัญญาณชีพของผู้ป่วยและปรึกษาทางไกลระบบ Stroke Pre-Screening ผ่านรถโมบายสโตรคยูนิตเพื่อเพิ่มโอกาสของการเข้าถึงการรักษาและบรรเทาอาการของคนไข้ การจัดทำแพลตฟอร์มกลางในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพทั่วประเทศ โดยมีโรงพยาบาลนำร่อง 100 แห่ง การพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะเพื่อนำมาใช้ในการผลิตยาและวัคซีน และการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนระบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
1.4 การขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล เช่น โครงการพัฒนาและทดสอบระบบอากาศยานเพื่อตรวจการณ์และเฝ้าระวังพื้นที่ชายฝั่งด้วยระบบถ่ายทอดข้อมูลความเร็วสูงผ่านสัญญาณ 5G และระบบตรวจจับและระบุตำแหน่งเรืออัตโนมัติด้วยปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งมีการทดสอบใช้งานในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา และท่าเรือแหลมฉบัง และการพัฒนาบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จผ่านช่องทางเดียว (One Stop Service 4.0) เพื่อให้ประชาชนสะดวกต่อการเข้าถึงข้อมูลและบริการของภาครัฐ
1.5 การพัฒนากำลังคนดิจิทัล โดยได้ดำเนินการฝึกอบรมให้เกษตรกรมีทักษะการใช้โดรนและพัฒนาเป็นสมาร์ทฟาร์ม ใน 3 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี และนครปฐม รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับให้เกษตรกร และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการท่องเที่ยวและอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเลเกาะลิบง
1.6 การสร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยได้จัดตั้งศูนย์ Thailand 5G Ecosystem Innovation Center เพื่อทดสอบระบบ 5G ในด้านต่าง ๆ 2. ผลการดำเนินงานของคณะกรรมการภายใต้พระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 คณะกรรมการฯ ได้รับทราบเรื่องต่าง ๆ เช่น การจัดทำหรือปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หลักเกณฑ์การให้บริการโครงข่ายแบบเปิดในการใช้โครงข่ายเน็ตประชารัฐ การจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล และความคืบหน้การควบรวมของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) 3. (ร่าง) พระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. .... คณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบ (ร่าง) พระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ไทยมีองค์กรกลางในการกำหนดนโยบายและแผนกิจการอวกาศของประเทศในภาพรวมอย่างมีเอกภาพ และให้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนทศ (องค์การมหาชน) เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป 4. แนวปฏิบัติจริยธรมปัญญาประดิษฐ์ คณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบแนวปฏิบัติดังกล่าว ซึ่งมีองค์ประกอบ เช่น ความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ความโปร่งใสและความรับผิดชอบ ความมั่นคงและความเป็นส่วนตัว และความเท่าเทียมหลากหลาย ครอบคลุม และเป็นธรรม และเห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป 5. ร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ คณะกรรมการฯ มีมติรับทราบร่างงบประมาณรายจ่ายดังกล่าว จำนวนทั้งสิ้น 6,509.434 ล้านบาท และมีข้อสังเกตในประเด็นต่าง ๆ เช่น การดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และการตั้งงบประมาณรายจ่ายสำหรับเรื่องการจัดระเบียบสายสื่อสาร