เรื่อง รายงานผลดำเนินงานตามมาตรการลดภาระค่าธรรมเนียมสำหรับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม กรณีอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางเมื่อสิ้นสุดโครงการ ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2562-23 มิถุนายน 2563 ระยะเวลารวม 1 ปี
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ รายงานผลดำเนินงานตามมาตรการลดภาระค่าธรรมเนียมสำหรับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมกรณีอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 เมื่อสิ้นสุดโครงการ ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2562-23 มิถุนายน 2563 ระยะเวลารวม 1 ปี เพื่อนำไปประเมินผลและความคุ้มค่าในการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว ซึ่งพระราชบัญญัติวินัยการงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 27 วรรคสาม บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ จัดทำรายงานเปรียบเทียบประโยชน์ที่ได้รับกับการสูญเสียรายได้ที่เกิดขึ้นจริงกับประมาณการที่ได้จัดทำแผนงาน
1. หลักการ
เพื่อสนับสนุนประชาชนให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในระดับราคาที่ไม่สูงนักโดยการลดภาระให้กับผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางที่ไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัย เช่น กลุ่มคนวัยทำงานหรือประชาชนที่กำลังเริ่มสร้างครอบครัว รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุ รวมทั้งเป็นการช่วยกระตุ้นตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยและภาคอสังหาริมทรัพย์ของประเทศได้อีกทางหนึ่ง
2. ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย
ประชาชนทั่วไปที่มีความต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในราคาซื้อขายไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อหน่วย โดยมุ่งเน้นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง
3. มาตรการฯ
- ลดการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับการจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดจากเดิมร้อยละ 2 ของราคาประเมินทุนทรัพย์เหลือร้อยละ 0.01
- ลดการเรียกเก็บค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดจากเดิม ร้อยละ 1 ของมูลค่าที่จำนองเหลือร้อยละ 0.01
4. ระยะเวลาโครงการ ระยะเวลา 1 ปี ให้มีผลตั้งแต่วันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลงนามในประกาศกระทรวงมหาดไทย (ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2562-23 มิถุนายน 2563)
5. ประมาณการสูญเสียรายได้ รวม (ล้านบาท)
ไตรมาส 4/2562 / 510
ไตรมาส 1/2563 / 340
ไตรมาส 2/2563 / 340
ไตรมาส 3/2563 / 510
รวม 1 ปี / 1,700 2. การเปรียบเทียบประโยชน์ที่ได้รับกับการสูญเสียรายได้ที่เกิดขึ้นจริงกับประมาณการที่ได้จัดทำ แผนงาน เมื่อสิ้นสุดโครงการตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2562-23 มิถุนายน 2563 ระยะวลารวม 1 ปี ตามมาตรา 27 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 สรุปได้ ดังนี้
มาตรการ
1) ลดค่าธรรมเนียมการโอนฯ
เป้าหมาย (12 เดือน)
จำนวนราย 58,340
รายได้ที่รัฐสูญเสีย (ลบ.) 1,150.000
ผลการดำเนินงาน (12 เดือน)
จำนวนราย 111,635
รายได้ที่รัฐสูญเสีย (ลบ.) 1,235.113
ผลการดำเนินงานสูง (ต่ำ) กว่าเป้าหมาย
จำนวนราย 91.35%
รายได้ที่รัฐสูญเสีย 7.40%
2) ลดค่าจดทะเบียนการจำนองฯ
เป้าหมาย (12 เดือน)
จำนวนราย 58,340
รายได้ที่รัฐสูญเสีย (ลบ.) 550.000
ผลการดำเนินงาน (12 เดือน)
จำนวนราย 46,976
รายได้ที่รัฐสูญเสีย (ลบ.) 277.254
ผลการดำเนินงานสูง (ต่ำ) กว่าเป้าหมาย
จำนวนราย (19.48)%
รายได้ที่รัฐสูญเสีย (49.59)%
รวม
เป้าหมาย (12 เดือน)
จำนวนราย 116,680
รายได้ที่รัฐสูญเสีย (ลบ.) 1,700.000
ผลการดำเนินงาน (12 เดือน)
จำนวนราย 158,611
รายได้ที่รัฐสูญเสีย (ลบ.) 1,512.367
ผลการดำเนินงานสูง (ต่ำ) กว่าเป้าหมาย
จำนวนราย 35.94%
รายได้ที่รัฐสูญเสีย (11.04)%
หมายเหตุ กระทรวงมหาดไทย (กรมที่ดิน) จัดส่งข้อมูลการสูญเสียรายได้ของรัฐและจำนวนประชาชนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางที่เข้าถึงกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยฯ ดังกล่าว
2.1 ผลการดำเนินงานตามมาตรการฯ เมื่อสิ้นสุดโครงการ ระยะเวลา รวม 1 ปี สามารถช่วยลดภาระและเพิ่มกำลังซื้อให้แก่กลุ่มประชาชนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางที่มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในระดับราคาที่ไม่สูงมากนัก และมีความสามารถในการผ่อนชำระได้สามารถตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยได้เร็วขึ้น และได้เข้าถึงในกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย จำนวน 111,635 ราย สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 91.35 ของเป้าหมายรวม 12 เดือน จำนวน 58,340 ราย
2.2 ผลกระทบต่อรายได้การเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ซึ่งเป็นรายได้ของรัฐ โดยกรมที่ดินป็นผู้จัดเก็บให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ลดลง เมื่อสิ้นสุดโครงการ ระยะเวลารวม 1 ปี จำนวน 1,512.367 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายร้อยละ 11.04 จากการคาดการณ์ที่รัฐต้องสูญเสียรายได้จำนวน 1,700 ล้านบาท
2.3 การเปรียบเทียบประโยชน์ที่ได้รับกับการสูญเสียรายได้ที่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากเป็นมาตรการทางสังคมและให้ประโยชน์เฉพาะเจาะจงสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงที่อยู่อาศัย และเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์จะส่งผลให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวมเพิ่มขึ้น มีเงินหมุนเวียนไปยังห่วงโซ่ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ ทั้งทางด้านการจ้างงานและการบริโภค ทำให้เกิดการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกันมากขึ้นซึ่งจะทำให้ อปท. มีรายได้เพิ่มขึ้นจากภาษีอื่น ๆ ที่รัฐจัดเก็บและจัดสรรให้ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มภาษีธุรกิจเฉพาะ และภาษีสรรพสามิต ดังนั้น ผลรวมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวมที่เพิ่มขึ้นจะสามารถสร้างเป็นรายได้กลับคืนมาเพื่อมาชดเชยกับรายได้งบประมาณที่สูญเสียไปจากการดำเนินมาตรการฯ ดังกล่าวได้ในระดับหนึ่ง
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 มกราคม 2564