คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปภาพรวมสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการประจำเดือนพฤศจิกายน 2563 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้
ภาพรวม
ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนพฤศจิกายน 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.41 (YoY) ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และเป็นการหดตัวในอัตราน้อยที่สุดในรอบ 9 เดือน ตามราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ จากความต้องการทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาฐานปีที่ผ่านมาต่ำ ขณะที่ราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานยังคงหดตัว แต่มีทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา โดยหดตัวน้อยที่สุดในรอบ 9 เดือน นอกจากนี้สินค้าในกลุ่มข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ราคาลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตข้าวในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ สำหรับสินค้าในหมวดอื่น ๆ ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ สอดคล้องกับความต้องการ การส่งเสริมการขายและปริมาณผลผลิต เป็นสำคัญ ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน (เงินเฟ้อทั่วไปที่หักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว) สูงขึ้นร้อยละ 0.18 (YoY)
เงินเฟ้อในเดือนนี้มีทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งมาตรการด้านการท่องเที่ยว และมาตรการสนับสนุนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ส่งผลดีต่อทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ทั้งนี้ ทิศทางของเงินเฟ้อที่ดีขึ้นดังกล่าว สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดด้านอุปสงค์และอุปทานในประเทศ โดยเฉพาะรายได้เกษตรกร ที่ยังขยายตัวต่อเนื่องตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญ รวมทั้งปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ขณะที่เครื่องชี้ด้านอุปทานมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่หดตัวน้อยลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6
ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนพฤศจิกายน 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.41 (YoY) ตามการลดลงของสินค้าอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 1.64 ได้แก่ หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ร้อยละ 4.18 โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ลดลงร้อยละ 13.30 ตามการลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ ลดลงร้อยละ 0.24 (ค่าทัศนาจร ค่าห้องพักโรงแรม) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลงร้อยละ 0.18 (เสื้อยืดบุรุษ เสื้อเชิ้ต เสื้อยกทรง) หมวดเคหสถาน ลดลงร้อยละ 0.15 (ก๊าซหุงต้ม ค่ากระแสไฟฟ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม) ขณะที่หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.04 และ 0.08 ตามลำดับ สำหรับหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.70 จากการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ร้อยละ 3.85 โดยเฉพาะเนื้อสุกร เนื่องจากการขยายตัวของตลาดส่งออก ผักและผลไม้ สูงขึ้นร้อยละ 7.74 โดยเฉพาะผักสดสูงขึ้นร้อยละ 17.28 จากการสูงขึ้นของผักสดเกือบทุกชนิด ผลไม้สด สูงขึ้นร้อยละ 1.0 (ฝรั่ง ทุเรียน องุ่น) เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 2.46 (น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) ซอสหอยนางรม) ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 0.18 (ไข่ไก่ นมผง) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.14 (น้ำอัดลม กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม) รวมทั้งอาหารบริโภค-ในบ้านและอาหารบริโภค-นอกบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 0.32 และ 0.70 ตามลำดับ สำหรับสินค้าในกลุ่มข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ปรับราคาลดลงร้อยละ 3.39 (ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า)
ดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2563 ลดลงร้อยละ 0.04 (MoM) และเฉลี่ย 11 เดือน (ม.ค.- พ.ย.) ปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.90 (AoA)
ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนพฤศจิกายน 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.9 (YoY) ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะราคาในหมวดผลผลิตเกษตรกรรมยังคงขยายตัวได้ดี และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดด้านอุปทานที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งดัชนีราคาสินค้าเกษตร ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต โดยหมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 6.7 ได้แก่ กลุ่มผลผลิตการเกษตร (ผลปาล์มสด ยางพารา) ความต้องการใช้ทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากมาตรการของภาครัฐ และการขยายตัวของการผลิตถุงมือยางและยางยืด มะพร้าวผล อ้อย พืชผัก (มะนาว มะเขือ พริกสด) และผลไม้ (องุ่น กล้วยน้ำว้า สับปะรดโรงงาน) เนื่องจากผลผลิตลดลงจากภัยแล้งในช่วงครึ่งปีแรก กลุ่มสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ (สุกรมีชีวิต ไข่ไก่ ไข่เป็ด) กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ (ปลาทูสด ปลาลัง ปลาหมึกกล้วย และกุ้งแวนนาไม) ตามความต้องการที่มีอย่างต่อเนื่อง สำหรับสินค้าที่ปรับลดลงตามราคาในตลาดโลกเนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว ได้แก่หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.1 จากการลดลงของกลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์) กลุ่มเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษ (กระดาษพิมพ์เขียน เยื่อกระดาษ) กลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ (ไม้ยางพารา) กลุ่มสิ่งทอ (สิ่งทอจากใยสังเคราะห์) กลุ่มเครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และอิเล็กทรอนิกส์ ปรับลดลงตามราคาวัตถุดิบ และหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 23.1 ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และก๊าซธรรมชาติ
ดัชนีราคาผู้ผลิต เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2563 ลดลงร้อยละ 0.5 (MoM) และเฉลี่ย 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.9 (AoA)
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนพฤศจิกายน 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.4 (YoY) สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยเฉพาะหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่สูงขึ้นถึงร้อยละ 2.2 จากร้อยละ 1.4 ในเดือนก่อนหน้า ตามต้นทุนวัตถุดิบและความต้องการที่ค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 2.0 (กระเบื้องแกรนิต กระเบื้องยางพีวีซีปูพื้น) ราคาสูงขึ้นตามต้นทุน หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.9 (ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี ท่อพีวีซี) หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.3 (สีเคลือบน้ำมัน สีรองพื้นโลหะ) หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 0.2 ตามราคายางมะตอยที่ได้ลดกำลังการผลิตตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และหมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นเท่ากันที่ร้อยละ 0.1 (บานประตู วงกบหน้าต่าง กระจกเงา) ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 2.2 (ชีทไพล์คอนกรีต ถังซีเมนต์สำเร็จรูป เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง) และหมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 0.3 (ปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์) เนื่องจากภาคการก่อสร้างยังคงซบเซา
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2563 สูงขึ้นร้อยละ 0.2 (MoM) และเฉลี่ย 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.0 (AoA)
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนพฤศจิกายน 2563 ปรับตัวดีขึ้น อยู่ที่ระดับ 46.3 จากระดับ 44.6 ในเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 36.4 มาอยู่ที่ระดับ 38.5 เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตที่ปรับตัวดีขึ้น จากระดับ 50.1 มาอยู่ที่ระดับ 51.5 และอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 (สูงกว่าระดับ 50) สาเหตุสำคัญคาดว่าน่าจะมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ของภาครัฐที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง และความกังวลต่อการระบาดของโควิด-19 เริ่มผ่อนคลายลงตามลำดับ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวม อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศเพื่อนบ้าน และความขัดแย้งทางการเมืองจากหลายฝ่ายยังยืดเยื้อ เป็นปัจจัยกดดันที่ส่งผลทางลบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน ซึ่งจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป 2. สรุปสถานการณ์เงินเฟ้อและแนวโน้ม
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนธันวาคม 2563 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมาและคาดว่าจะยังคงหดตัว แต่ในอัตราที่น้อยลง โดยสาเหตุสำคัญน่าจะมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ราคาน้ำมันเริ่มทรงตัวและมีเสถียรภาพมากขึ้น ราคาสินค้าเกษตรและอาหารสดที่มีแนวโน้มสูงต่อเนื่องตามความต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในหลากหลายรูปแบบที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในภาพรวมเพื่อชดเชยรายได้จากการท่องเที่ยวและการส่งออกได้อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เสี่ยงต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่าเงินเฟ้อทั้งปี 2563 จะอยู่ที่ร้อยละ - 0.87 ? ไม่เกิน 0.02 ซึ่งเป็นไปตามที่กระทรวงพาณิชย์เคยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ - 1.5 ถึง - 0.7
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 มกราคม 2564