2.1 ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในภาพรวมทั่วโลก ยังมีแนวโน้มทวีความรุนแรงในหลายภูมิภาค โดยปัจจุบันประเทศหลายประเทศในทวีปยุโรปได้กลับมาใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดอีกครั้ง นอกจากนี้จากการประเมินขององค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะรุนแรงมากขึ้นในทุกภูมิภาคของโลก
2.2 สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย ปัจจุบันได้เกิดการระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ภายในประเทศเป็นวงกว้างและกระจายไปในหลายเขตพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละวันทั้งจากคนไทยและแรงงานต่างด้าว ประกอบกับมีการเดินทางของผู้ติดเชื้อซึ่งโดยส่วนใหญ่ ยังไม่ปรากฏอาการของโรค จนเป็นเหตุให้เชื้อโรคแพร่ออกไปในลักษณะที่เป็นกลุ่มก้อนและอาจมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ในกลุ่มผู้ป่วยหนัก นอกจากนี้ ยังพบว่ามีผู้ติดเชื้อบางส่วนปกปิดข้อมูลการเดินทางทำให้ขั้นตอนการสอบสวนโรคเกิดความล่าช้าและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน จนส่งผลให้เกิดเป็นการระบาดระลอกใหม่ขึ้นเป็นวงกว้างทั่วประเทศ
2.3 มติของที่ประชุม ที่ประชุมเห็นพ้องว่ายังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจอย่างเพียงพอในการปฏิบัติงานเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันควบคุมโรคและมาตรการทางสังคมที่เข้มข้นและรวดเร็ว รวมทั้งต้องมีการกำกับดูแล และบริหารจัดการให้เป็นไปตามมาตรการด้านสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการกำกับดูแลระบบสาธารณสุขของประเทศ และสร้างความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน รวมทั้งจะต้องมีระบบการบริหารจัดการวิกฤติการณ์ในลักษณะการรวมศูนย์ที่มีการบูรณาการกำลังจากพลเรือน ตำรวจ และทหารเข้าร่วมปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็วและเพียงพอตามภารกิจที่เกี่ยวข้อง และมีมติให้นำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรต่อไป
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 มกราคม 2564