ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง ค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ข่าวการเมือง Tuesday January 5, 2021 19:02 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง ค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบโครงการเตรียมความพร้อมรับมือและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ : กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระยะการระบาดระลอกใหม่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
2. อนุมัติสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง ค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 4,661,116,203 บาท

ทั้งนี้ ให้ สธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา COVID-19 ระลอกใหม่ รวมทั้งการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมให้ถูกต้อง เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของแผนงาน/โครงการอย่างเคร่งครัด

สาระสำคัญ ข้อเท็จจริง
1. จากการติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งมีการระบาดทั่วโลก ที่ยังคงมีความรุนแรงมากขึ้น โดยจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ในขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 ซึ่งทวีปยุโรปมีจำนวนการรายงานผู้ติดเชื้อสูงสุด และเมื่อพิจารณาถึงสัดส่วนของผู้ติดเชื้อต่อจำนวนประชากรในทวีปยุโรปพบว่า ภูมิภาคแปซิฟิกรองลงมา เมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก และยุโรป และสำหรับประเทศไทยได้จัดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รองรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ โดยมีระบบการเฝ้าระวังกักตัวในสถานที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) สถานที่ที่กักตัวที่รัฐกำหนด (Alternative State Quarantine) หรือโรงพยาบาลทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine) และเฝ้าระวังบริเวณด่านควบคุมระหว่างประเทศ พรมแดน ช่องทางธรรมชาติ ชายแดนที่ติดต่อประเทศเมียนมา เพื่อรองรับสถานการณ์การที่ประเทศไทยมีการผ่อนคลายมาตรการบังคับใช้ มาตรการให้ดำเนินกิจการและกิจกรรม และนโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (Special Tourists VISA) (STV) สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นจากประเทศที่หลากหลาย เกือบทั้งหมดมาจาก Quarantine Facilities และจากประชากรกลุ่มต่างด้าวจากการเดินทางเข้าประเทศโดยไม่ผ่านการกักตัวหรือจากการหลบหนีเข้าทางช่องทางธรรมชาติ ที่ผ่านมามีจำนวนผู้เดินทางจากต่างประเทศเข้ามาจำนวนมาก ทำให้ประเทศไทยยังมีความเสี่ยงสูงที่จะพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น รวมทั้งสถานการณ์ในประเทศที่กำลังประสบปัญหาผู้ติดเชื้อในแรงงานต่างด้าว ในจังหวัดสมุทรสาครพบว่า มีการแพร่กระจายไปยังจังหวัดต่าง ๆ และมีบางจังหวัดเกิดการติดเชื้อใหม่ในพื้นที่ ทำให้ประเทศไทยต้องเตรียมตั้งรับสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งอาจจะมีการแพร่กระจายในพื้นที่ใหม่เพื่อการแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงทีเพื่อป้องกันบุคลากรทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงจากการปฏิบัติงาน กระทรวงสาธารณสุข
2. กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำโครงการเตรียมความพร้อมรับมือและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ : กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระยะการระบาดระลอกใหม่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 4,661,116,203 บาท และขอความเห็นชอบไปยังสำนักงบประมาณ โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการ ดังนี้
  • ทุกคนในประเทศไทย ลดป่วย ลดการเสียชีวิต และปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
  • ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ ช่วยลดผลกระทบทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว สังคม และเพิ่มความมั่นคงของประเทศ
  • ประเทศไทย มีระบบการป้องกัน ควบคุมโรค ที่มีสมรรถนะการป้องกัน ควบคุมโรคที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล สามารถลดการแพร่กระจายเชื้อภายในประเทศและเพื่อให้การป้องกันการระบาดของโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
3. นายกรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 ให้กระทรวงสาธารณสุขเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 งบกลาง ค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 4,661,116,203 บาท

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างเข้มข้นต่อเนื่อง ทั้งบริเวณด่านพรมแดน ตะเข็บชายแดนและช่องทางธรรมชาติ โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานความมั่นคง ฝ่ายปกครอง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประชากรต่างด้าว (อสต.) ร่วมตรวจสอบพื้นที่และให้มีมาตรการการค้นหาเฝ้าระวังเชิงรุก (Active Case Finding) ค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง (High Risk Contact) การค้นหาผู้ป่วยในชุมชน (Sentinel Surveillance) ให้มากขึ้น

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.สธ.) ได้ยกระดับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เข้มข้นในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ โดย

1. แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

1.1 พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) คือพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 1 พื้นที่

1.2 พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) คือพื้นที่ที่อยู่ติดกับพื้นที่โซนสีแดง/พื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 10 คน

1.3 พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) คือพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 10 คน และมีแนวโน้มควบคุมสถานการณ์ได้

1.4 พื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) คือพื้นที่ที่ยังไม่มีผู้ติดเชื้อ

2. ให้ทุกจังหวัดวิเคราะห์สถานการณ์ของจังหวัดและเน้นป้องกันการเสียชีวิตเตรียมเวชภัณฑ์ ป้องกันในกลุ่มเปราะบางและกลุ่มเสี่ยง จัดการแรงงานต่างด้าวและชายแดนให้มีประสิทธิภาพ

3. ให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) สำรวจชุมชน คัดกรองผู้ป่วยสงสัย ผู้เดินทางเข้าพื้นที่ ติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ได้รับการกักตัวที่บ้านทุกราย

เพื่อให้สามารถควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ ให้อยู่ในวงจำกัด ลดการติดเชื้อ ลดการเสียชีวิต และการแพร่กระจายในประเทศ รวมทั้งการปกป้องกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคร่วม กลุ่มเปราะบางและด้อยโอกาส ได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงสาธารณสุข จึงจัดทำโครงการเตรียมความพร้อมรับมือและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ : กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระยะการระบาดระลอกใหม่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 มกราคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ