ผลการประชุมด้านเศรษฐกิจในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37

ข่าวการเมือง Tuesday January 5, 2021 19:04 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมด้านเศรษฐกิจในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 37 ซึ่งประกอบด้วยการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 19 การประชุมหารือระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนไตรภาคีแบบเปิดกับสวิตเซอร์แลนด์และการประชุมเตรียมการรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค เมื่อวันที่ 10 ? 11 พฤศจิกายน 2563 โดยมีผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ (นายสรรเสริญ สมะลาภา) เข้าร่วมการประชุม และการประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. การประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 19

1.1 รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการตามประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจที่เวียดนามในฐานะประธานอาเซียนผลักดันให้บรรลุผลสำเร็จในปี 2563 ทั้ง 13 ประเด็น โดยขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ 8 ประเด็น ซึ่งรวมถึงการสรุปผลและลงนามความตกลง Regional Comprehensive Economic Partnership (RECEP)

1.2 รับทราบการทบทวนแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ค.ศ. 2025 ระยะกลางฉบับเบื้องต้น โดยมีข้อเสนอแนะสำคัญ เช่น การสนับสนุนยุทธศาสตร์อาเซียนในประเด็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 การส่งเสริมวาระการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลกแบบองค์รวมและการมีกลยุทธ์ความสัมพันธ์กับภายนอกภูมิภาค เชิงรุกและเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น

1.3 ยินดีต่อการจัดทำกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมอาเซียนและแผนดำเนินการสำหรับกรอบการฟื้นฟูและแผนดำเนินการสำหรับการฟื้นฟูอาเซียนจากวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รวมทั้งยินดีต่อการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของอาเซียนให้เข้มแข็งในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของโควิด-19

1.4 รับทราบความคืบหน้าการจัดทำแผนยุทธศาสตร์อาเซียนในประเด็นการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 โดยจะดำเนินการแล้วเสร็จและเสนอผู้นำอาเซียนพิจารณาให้การรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียนช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564

1.5 รับทราบข้อเสนอแนะของคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อผู้นำอาเซียน ได้แก่ 1) เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการในเสาเศรษฐกิจ โดยกำหนดมาตรการสำคัญรายสาขาที่มีความสำคัญและปฏิบัติ ได้จริง และการปรับแนวทางเพื่อแก้ไขความท้าทายในการดำเนินการ 2) สร้างโอกาสหลังสถานการณ์โควิด-19 โดยมีข้อริเริ่มหรือกลไกใหม่ ๆ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 3) ดำเนินการในประเด็นคาบเกี่ยวระหว่างเสาประชาคมอย่างบูรณาการ โดยเฉพาะประเด็นการมุ่งสู่การเป็นดิจิทัลและความยั่งยืน 4) วางบทบาทอย่างระมัดระวังท่ามกลางการแข่งขันเชิงภูมิยุทธศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจ โดยคำนึงถึงระบบการค้าพหุภาคีที่เปิดกว้าง มีส่วนร่วม ไม่เลือกปฏิบัติ และยึดถือกฎเกณฑ์ 2. การประชุมหารือระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนไตรภาคีแบบเปิดกับสมาพันธรัฐสวิส โดยได้แลกเปลี่ยนมุมมองและข้อมูลในประเด็นด้านเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ เช่น การเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 การส่งเสริมความร่วมมือด้านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล และการให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทาน ระหว่างประเทศและระบบการค้าดิจิทัลมากขึ้น 3. การประชุมเตรียมการรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและการประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ครั้งที่ 4 โดยรัฐมนตรีประเทศ RCEP 15 ประเทศรับทราบความคืบหน้าการเจรจาว่าสามารถสรุปผลการเจรจาข้อบทการเปิดตลาด และขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย เสร็จสมบูรณ์พร้อมสำหรับการลงนามความตกลงแล้ว โดยที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบ ดังนี้

3.1 การแปลงสถานะของคณะกรรมการเจรจาจัดทำความตกลง RCEP เป็นคณะกรรมการร่วม RCEP ชั่วคราว เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการเตรียมการสำหรับการมีผลใช้บังคับของความตกลง

3.2 ปฏิญญาของรัฐมนตรี RCEP เรื่องการเข้าร่วมความตกลง RCEP ของอินเดีย โดยมีสาระสำคัญ คือ สมาชิก RCEP จะเริ่มการเจรจากับอินเดียเมื่ออินเดียยื่นแสดงเจตนารมย์เป็นลายลักษณ์อักษรหลังการลงนามโดยสามารถเข้าร่วมความตกลงได้ทันทีที่ความตกลงมีผลใช้บังคับและเปิดให้อินเดียเข้าร่วมการประชุม RCEP ในฐานะผู้สังเกตการณ์และเข้าร่วมกิจกรรมความร่วมมือทางเศรษฐกิจตามเงื่อนไขที่รัฐผู้ลงนามความตกลงกำหนด 4. การเสนอสัตยาบันความตกลง RCEP ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างเสนอสัตยาบันความตกลง RCEP เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบการให้สัตยาบันและจะแจ้งสำนักเลขาธิการอาเซียนเมื่อประเทศไทยดำเนินกระบวนการภายในแล้วเสร็จ ทั้งนี้ ประเทศสมาชิก RCEP อยู่ระหว่างการหารือด้านเทคนิคเกี่ยวกับการดำเนินการตามพันธกรณี เช่น การปรับพิกัดอัตราศุลกากรให้เป็นปัจจุบันและรูปแบบของใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าสำหรับความตกลง RCEP เพื่อให้สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้ และการกำหนดของเขตภารกิจเพื่อจัดตั้งคณะกรรมการร่วม RCEP และสำนักเลขาธิการ RCEP ซึ่งคาดว่าจะเริ่มการหารือในช่วงต้นปี 2564

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 มกราคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ