คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพาณิชย์แห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ รัฐเตลังคานา สาธารณรัฐอินเดีย (Memorandum of Understanding between Ministry of Commerce, Royal Thai Government and Department of Industries and Commerce, Government of Telangana, Republic of India) (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) และอนุมัติให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างบันทึกความเข้าใจฯ ที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
วัตถุประสงค์
ส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startups) และการแลกเปลี่ยนด้านการค้า อุตสาหกรรม และเทคโนโลยี ซึ่งมีส่วนช่วยพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย
ขอบเขตของความร่วมมือ
1) การแลกเปลี่ยนข้อมูลการตลาด การสนับสนุนเพิ่มเสริมสร้างขีดความสามารถของภาคธุรกิจ เพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุน ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม การจัดตั้งบริษัทร่วมทุน และการเป็นตัวแทนของวิสาหกิจภายในเขตแดนของแต่ละฝ่าย
2) การส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงทางธุรกิจและการพัฒนาคลัสเตอร์ระหว่างวิสาหกิจเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมของภาคธุรกิจของแต่ละฝ่าย
3) การอำนวยความสะดวกในการจัดกิจกรรมทางธุรกิจประเภทต่าง ๆ
4) การเชื่อมโยงแพลตฟอร์มดิจิทัลหรือเว็บไซต์ ?thaitrade.com? ของไทยและ ?Telangana State GlobalLinker? ของรัฐเตลังคานา สาธารณรัฐอินเดีย เพื่อสร้างโอกาสให้แก่วิสาหกิจ โดยเฉพาะ SMEs และ Startups ของแต่ละฝ่ายสามารถขยายเครือข่ายธุรกิจและการเจรจาการค้ากับผู้ประกอบการของคู่ภาคีอีกฝ่ายได้มากยิ่งขึ้น
5) การแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้าน Startups ผ่านศูนย์บ่มเพาะธุรกิจและระบบนิเวศด้านนวัตกรรมเพื่อการพัฒนา Startups ของรัฐเตลังคานา สาธารณรัฐอินเดียที่มีชื่อว่า ?T-Hub? ซึ่งเปิดโอกาสให้ไทยสามารถเรียนรู้ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยีและแนวโน้มล่าสุดของ Startups อินเดียเพื่อนำมาพัฒนาศักยภาพของ Startups ไทยให้เติบโตและสามารถต่อยอดธุรกิจสู่การแข่งขันระดับสากลต่อไปได้
6) การให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนต่าง ๆ อาทิ เงินอุดหนุนลงทุน เงินอุดหนุนดอกเบี้ยเงินกู้ การคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการขออนุมัติเรื่องต่าง ๆ กรณีนักลงทุนไทยตัดสินใจลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐเตลังคานา สาธารณรัฐอินเดีย ทั้งนี้ นักลงทุนไทยจะต้องพยายามว่าจ้างแรงงานท้องถิ่นและการจัดซื้อจัดจ้างท้องถิ่นให้มากที่สุด รวมถึงร่วมมือกับรัฐเตลังคานา สาธารณรัฐอินเดียในการสร้างการเชื่อมโยงการผลิตไปข้างหน้า (Forward Linkages) และการเชื่อมโยงการผลิตไปข้างหลัง (Backward Linkages)
7) การให้สิทธิประโยชน์หรือสิทธิพิเศษทางภาษี (ถ้ามี) แก่นักลงทุนที่ใช้ไม้ยางพาราจากไทยเป็นวัตถุดิบในการผลิตเฟอร์นิเจอร์หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับไม้อื่น ๆ ตามความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าระหว่างอาเซียน-อินเดียสำหรับการลงทุนในสวนเฟอร์นิเจอร์ (Furniture Park) ที่อยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้ง ณ เมืองไฮเดอราบัด รัฐเตลังคานา สาธารณรัฐอินเดีย
การจัดการด้านการเงิน
ต้นทุน ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกี่ยวกับการปฏิบัติตามร่างบันทึกความเข้าใจฯ หรือกิจกรรมอื่น ๆ สำหรับโครงการพัฒนาต่าง ๆ ตามร่างบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้หรือที่เป็นผลจากร่างบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้ ให้ภาคีฝ่ายนั้นเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว และต้องไม่ก่อให้เกิดข้อผูกพันหรือหนี้สินต่อภาคีอีกฝ่ายหนึ่งของร่างบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้ เว้นแต่จะได้มีการตัดสินใจร่วมกัน
การมีผลบังคับใช้ ระยะเวลาการสิ้นสุด และการขยาย
มีผลบังคับใช้เริ่มแรกเป็นระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ลงนามโดยคู่ภาคี หลังจากนั้นจะขยายระยะเวลาบังคับใช้ต่อไปโดยปริยายอีกครั้งละ 1 ปี ทั้งนี้ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถแจ้งความประสงค์ไม่ต่ออายุหรือขอยกเลิกบันทึกความเข้าใจฯ ได้ โดยการทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรแจ้งอีกฝ่ายล่วงหน้าเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน ก่อนการยกเลิก ทั้งนี้ ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ไม่ก่อให้เกิดข้อผูกพันทางกฎหมาย
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 มกราคม 2564