คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก RoboCup 2022 โดยใช้กรอบงบประมาณวงเงินทั้งสิ้น 20 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ
สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานนั้น เห็นควรที่ อว. โดยมหาวิทยาลัยมหิดลจะพิจารณาถึงความครอบคลุมทุกแหล่งเงินที่ต้องใช้ในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฯ จากเงินรายได้และหรือเงินอื่นใดที่มีอยู่หรือนำมาใช้จ่ายได้ รวมทั้งการสนับสนุนจากภาคเอกชนหรือหน่วยงานอื่นมาสมทบการดำเนินงานในลำดับแรกก่อน เพื่อให้เกิดภาระต่องบประมาณในสัดส่วนที่เหมาะสม และจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามความจำเป็นเหมาะสมตามขั้นตอน ทั้งนี้ การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันดังกล่าวควรคำนึงถึงความประหยัด การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) รวมทั้งการปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีให้ถูกต้องครบถ้วนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
วัตถุประสงค์
- เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ที่มีความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล
- เพื่อกระตุ้นการวิจัยและการต่อยอดงานวิจัยในด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ รวมทั้งสาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมของประเทศไทยที่มีความเชื่อมโยงและความร่วมมือระหว่างประเทศ
- เพื่อเชื่อมโยงและสนับสนุนกับภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในระบบอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ รวมถึงแสดงศักยภาพของนักประดิษฐ์ ผู้ประกอบการ นักเรียน และนักศึกษาไทย ให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
- เพื่อขับเคลื่อนงานจัดประชุมและแสดงสินค้าในกลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้อิเล็กทรอนิกส์ควบคุมมุ่งสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ (New S - Curve)
- เพื่อกระตุ้นการพัฒนาบุคลากรภายในประเทศไทย ผู้ประกอบการ นักประดิษฐ์ นักวิจัย นิสิตนักศึกษาให้เป็นวิศวกรพันธุ์ใหม่ ที่สนใจแก้ไขปัญหาทำงานร่วมกันเป็นทีม รู้จักแลกเปลี่ยนความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีข้ามสถาบันการศึกษาทั่วโลกเกิดเป็นเครือข่ายพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีโดยยึดหลักวิชาการ และการวิจัยและพัฒนาเป็นสำคัญ
- เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ทางด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์จากนักวิชาการระดับโลก และทีมหุ่นยนต์ที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศสู่ประเทศไทยเพื่อยกระดับมาตรฐานของหุ่นยนต์ภายในประเทศสู่การนำไปใช้จริง
กิจกรรมหลักที่ต้องดำเนินการ
(1) จัดประชุมคณะกรรมการหรือคณะทำงานทุก 2 เดือน
(2) จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการในเดือนมีนาคม ? เมษายน 2564 เพื่อพัฒนาและสร้างบุคลากรของประเทศไทยให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ และเป็นตัวแทนในการเข้าร่วมการแข่งขัน RoboCup Thailand 2021 ในงาน Thailand Robotics Week 2021 ในช่วงเดือนธันวาคม 2564 และหาตัวแทนของประเทศเข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก RoboCup 2022 ในช่วงเดือนมิถุนายน 2565
(3) รายงานความพร้อมของการจัดการแข่งขัน RoboCup 2022, Bangkok, Thailand ต่อคณะกรรมการสมาพันธ์ RoboCup ในการแข่งขัน RoboCup 2021 ณ เมืองบอร์โด (Bordeaux) ประเทศฝรั่งเศส ในระหว่างวันที่ 23 - 29 มิถุนายน 2564
(4) แถลงข่าวและประชาสัมพันธ์การจัดงาน Thailand Robotics Week 2021
(5) จัดงาน Thailand Robotics Week 2021 ในช่วงเดือนธันวาคม 2564
(6) จัดการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก RoboCup ครั้งที่ 25 ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยมีกิจกรรมแบ่งเป็น 4 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1 การจัดการแข่งขัน แบ่งเป็น 2 กลุ่มการแข่งขันหลัก ประกอบด้วย การแข่งขันในกลุ่มอายุไม่เกิน 19 ปี หรือ RoboCup Junior League และการแข่งขันในกลุ่มอายุ 19 ปี ขึ้นไป หรือ RoboCup Major League
ส่วนที่ 2 Exhibition เป็นพื้นที่สำหรับนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ และส่วนที่จะแสดงถึงวัฒนธรรมไทยให้เป็นที่รู้จักของนานาประเทศ ส่วนนิทรรศการสำหรับหน่วยงานที่สนับสนุนและแสดงสินค้าสำหรับผู้ประกอบการไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล และกลุ่มนักลงทุนจากต่างชาติ
ส่วนที่ 3 symposium จะเป็นการนำเสนอและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้โดยนักวิชาการ ด้านหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และระบบอัตโนมัติที่มีชื่อเสียงระดับโลก และมีส่วนผลักดันในการพัฒนาหุ่นยนต์ในด้านต่าง ๆ
ส่วนที่ 4 Startup Pitching เป็นเวทีกลางที่เปิดโอกาสให้ผู้ประดิษฐ์ ผู้ประกอบการ นักวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์ได้เข้ามามีโอกาสในการนำเสนอนวัตกรรมการประดิษฐ์ของตนต่อกลุ่มผู้ลงทุน ซึ่งเป็นการ Matching กันก่อให้เกิด Startup ได้ในอนาคต
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
- เสริมสร้างและพัฒนาบุคลากรและเพิ่มจำนวนบุคลากรผู้มีความรู้ความสามารถในด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ของประเทศให้มีความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล
- เสริมสร้าง พัฒนาการวิจัย และการต่อยอดงานวิจัยในด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ รวมทั้งสาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมของประเทศไทยที่มีความเชื่อมโยงและความร่วมมือระหว่างประเทศ
- เป็นการเชื่อมโยงและสนับสนุนกับภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะระบบอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของประเทศ รวมถึงแสดงศักยภาพของนักประดิษฐ์ ผู้ประกอบการ นักเรียน และนักศึกษาไทยให้เป็นที่รู้จักเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
- เกิดการลงทุนระหว่างประเทศจากอุตสาหกรรมขั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
ผลกระทบ
การพัฒนาวิทยาการด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม
New S ? Curves ในรูปแบบของการจัดการแข่งขันทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจึงเป็นการตอบรับต่อนโยบายภาครัฐสู่การเป็น Thailand 4.0 ซึ่งจะเป็นการสร้างระบบนิเวศขนาดใหญ่ของประเทศ ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านการศึกษา ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ และด้านอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน และเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่จะสามารถจุดประกายนักเรียนและนักศึกษาซึ่งจะเป็นบุคลากรที่มีศักยภาพของประเทศ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมทางด้านหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และระบบอัตโนมัติภายในประเทศต่อไปในอนาคต
โดย อว. ขอใช้กรอบงบประมาณวงเงิน 20 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 [ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรวมทั้งสิ้น 70 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 50 ล้านบาท อว. จะขอรับงบประมาณสนับสนุนจากสมาพันธ์ระดับนานาชาติ RoboCup และหน่วยงานอื่น เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กระทรวงศึกษาธิการ) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) เป็นต้น]
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 มกราคม 2564