แนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน เพื่อส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2563-2580 คณะรัฐมนตรีรับทราบแนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน

ข่าวการเมือง Tuesday January 12, 2021 19:48 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง แนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน เพื่อส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2563-2580 คณะรัฐมนตรีรับทราบแนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน เพื่อส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2563-2580 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ เพื่อหน่วยงานและ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน ทั้งนี้ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางดังกล่าวแล้ว โดยมีสาระสำคัญครอบคลุมเกี่ยวกับ 1) วิสัยทัศน์ คือ ?สิ่งแวดล้อมชุมชนแห่งอนาคตที่ยั่งยืน? 2) เป้าประสงค์ เช่น (1) สิ่งแวดล้อมชุมชนของไทยมีสภาพแวดล้อมที่ดี มีความสมดุลของระบบนิเวศทางธรรมชาติ และ (2) สิ่งแวดล้อมชุมชนพัฒนาบนพื้นฐานที่สอดคล้องกับภูมินิเวศและบริหารจัดการภายใต้ข้อมูล องค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย และ 3) ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 อนุรักษ์และฟื้นฟูฐานทรัพยากรธรรมชาติตามแนวศาสตร์พระราชา มีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแล รักษาฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน โดยชุมชนมีส่วนร่วมสามารถรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และลดภัยพิบัติ

ตัวชี้วัด

1. พื้นที่ฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนได้รับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแล รักษาเพิ่มขึ้น อย่างน้อย 18 พื้นที่ 2) สัดส่วนพื้นที่สีเขียวในเมือง/ชุมชน ร้อยละ 5 ของพื้นที่ทั้งประเทศ และ 3) ท้องถิ่นมีแผนการจัดการ

ความเสี่ยง /การปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ/ภัยพิบัติ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง

กลยุทธ์

อนุรักษ์ ปกป้อง ฟื้นฟู ดูแลรักษาและจัดการฐานทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศภายในชุมชนท้องถิ่น โดยชุมชนมีส่วนร่วมตามแนวพระราชดำริฯ และการใช้ประโยชน์พื้นที่สีเขียว เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต และการดำรงชีวิตของคนในชุมชน

หน่วยงานรับผิดชอบหลัก

กระทรวงการคลัง (กค.)

กระทรวงคมนาคม (คค.)

ทส. กระทรวงมหาดไทย (มท.) และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.)

ยุทธศาสตร์ที่ 2 บริหารจัดการการใช้ประโยชน์ที่ดินและการพัฒนาเมืองและชุมชนอย่างยั่งยืน มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาเมืองและชุมชน บนพื้นฐานภูมินิเวศ โดยคำนึงถึงความสมดุลของระบบนิเวศ วิถีวัฒนธรรมและศักยภาพของชุมชน และมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ

ตัวชี้วัด

1) ใช้แผนผังภูมินิเวศเป็นกรอบและแนวทางการพัฒนาครบทุกภาคของประเทศไทย และ 2) มีเมืองต้นแบบที่พัฒนาบนพื้นฐานภูมินิเวศ อย่างน้อย 43 เมือง และ 3) มีคุณภาพสิ่งแวดล้อมของชุมชน เป็นไปตามมาตรฐานอย่างน้อย 61 เมือง

กลยุทธ์

1) จัดทำแผนผังภูมินิเวศของชุมชนครอบคลุมการใช้ประโยชน์เชิงภูมิสังคมและการพัฒนาเมืองบนพื้นฐานภูมินิเวศ 2) ปรับโครงสร้างพื้นฐานเมืองสู่โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว และ 3) จัดการสิ่งแวดล้อมภูมิทัศน์เมืองและชุมชน

หน่วยงานรับผิดชอบหลัก

คค. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) ทส. มท. และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนที่ดีบนฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนและการเติบโตสีเขียว มีเป้าหมายเพื่อให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีขีดความสามารถในการแข่งขัน และมีการพัฒนาเศรษฐกิจของสมาชิกในชุมชนบนฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนและการเติบโตสีเขียว

ตัวชี้วัด

1) ธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มีการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น 2) ชุมชนที่มีการพัฒนาท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยชุมชน อย่างน้อย 80 แห่ง และ 3) ผลิตภัณฑ์ สินค้า บริการตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนบนพื้นฐานของอัตลักษณ์และวิถีชุมชนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น

กลยุทธ์

1) พัฒนาแนวทางในการจัดการของเสียและน้ำเสียของทุกภาคส่วนให้มีประสิทธิภาพตามแนวทางของเศรษฐกิจหมุนเวียน 2) ส่งเสริมและสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนบนพื้นฐานของอัตลักษณ์และวิถีชุมชนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดลอม 3) ส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยชุมชน และ 4) ส่งเสริมและสนับสนุนภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน

หน่วยงานรับผิดชอบหลัก

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ทส. กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) มท. กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)

ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาระบบ กลไกเครื่องมือ และมาตรการในการกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมชุมชนอย่างมี ธรรมาภิบาล และประสิทธิภาพ มีเป้าหมายเพื่อให้มีระบบบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนที่มีประสิทธิภาพจากการบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วน มีระบบ โครงสร้าง เครือข่ายความร่วมมือ ตลอดจนมาตรการด้านกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และเศรษฐศาสตร์ที่เหมาะสม และสอดคล้องกับการพัฒนาของชุมชนและกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก

ตัวชี้วัด

1) ระบบและโครงสร้างการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนมีความชัดเจน สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพิ่มขึ้น 2) มีกฎหมายสิทธิชุมชนรองรับปัญหาด้านสิ่งวดล้อมที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 3) ผู้ผลิตและผู้บริโภคมีพฤติกรรมในการผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น รวมทั้ง มีความร่วมมือ ระหว่างชุมชน ท้องถิ่น ภาคเอกชนในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น และ 4) มีข้อมูลและฐานข้อมูลสิ่งแวดล้อมชุมชนอัจฉริยะของประเทศ

กลยุทธ์

1) พัฒนาระบบโครงสร้างการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนแบบบูรณาการ 2) กำหนดมาตรการกระตุ้นและจูงใจให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ให้ความสำคัญต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม และ3) ปรับปรุงแก้ไข กฎ ระเบียบ กฎหมาย เพื่อสนับสนุนการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน และจัดทำฐานข้อมูลสิ่งแวดล้อมชุมชนอัจฉริยะ

หน่วยงานรับผิดชอบหลัก

กค. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดศ. ทส. มท. และสำนักนายกรัฐมนตรี (นร.)

ยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนาศักยภาพ องค์ความรู้ นวัตกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมเชิงนิเวศ เพื่อสร้างชุมชนแห่งอนาคต มีเป้าหมายเพื่อให้ภาคีพัฒนาสิ่งแวดล้อมชุมชนมีศักยภาพในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงบนฐานองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ทันสมัยทัดเทียมประชาคมอาเซียนและประชาคมโลก

ตัวชี้วัด

1) จำนวนกลุ่ม เครือข่าย ที่มีลักษณะที่หลากหลายและมีส่วนร่วมกับภาคีการพัฒนาในการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งในประเทศและระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น และ 2) จำนวนนวัตกรรม เทคโนโลยีและจำนวนชุมชน ที่มีองค์ความรู้ในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของตนเองหรือมีวัฒนธรรมเชิงนิเวศในการดำเนินชีวิตเพิ่มขึ้น

กลยุทธ์

1) เสริมสร้างความรู้ จิตสำนึกและความสามารถในการสร้างนวัตกรรมเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง 2) ส่งเสริมการวิจัย และพัฒนา รวมทั้งเทคโนโลยีด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน 3) ส่งเสริมความรับผิดชอบภาคีพัฒนาเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนผ่านกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนและการสร้างวัฒนธรรมเชิงนิเวศ และ 4) เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน

หน่วยงานรับผิดชอบหลัก

กระทรวงการต่างประเทศ

อว. ดศ. ทส. มท.

วธ. ศธ. และ นร.

ทั้งนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนแนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนฯ ตามยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ยุทธศาสตร์ มีประสิทธิภาพ ได้มีการกำหนดแผนที่นำทาง (Roadmap) การดำเนินงานโดยมีมาตรการแบ่งเป็นระยะสั้น (พ.ศ. 2563 - 2565) ระยะกลาง (พ.ศ. 2566 - 2570) และระยะยาว (พ.ศ. 2571 - 2580) มีการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และจัดสรรงบประมาณสำหรับจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนในแต่ละระดับ รวมทั้งมีการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลการดำเนินงานและการจัดทำรายงานเรื่องดังกล่าวด้วย

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 มกราคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ