คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ รายงานตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ประจำปี 2562 และให้เสนอรัฐสภาทราบต่อไป
1. กระทรวงสาธารณสุข
ผู้ถูกกระทำความรุนแรง เข้ารับบริการที่ศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาล จำนวน 512 แห่ง หรือจำนวน 15,797 ราย ในจำนวนนี้ ผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงมากที่สุดเป็นเพศหญิง จำนวน 14,523 ราย รองลงมาเป็นเพศชาย จำนวน 1,265 ราย และเพศทางเลือก จำนวน 9 ราย โดยมีค่าเฉลี่ยผู้ถูกกระทำความรุนแรง จำนวน 43 รายต่อวัน
2. กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พม.
- ตามระบบฐานข้อมูลความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ภายใต้เว็บไซต์ www.violence.in.th แสดงจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวที่เข้าสู่กระบวนการตามพระราชบัญญัติฯ โดยจำแนกตามความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ช่วงอายุ ประเภท สาเหตุ และสถานที่ เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวที่บันทึกในปี 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,532 เหตุการณ์
ข้อมูลความรุนแรงในครอบครัวตามมาตรา 17
1. หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง 3 หน่วยงาน
- สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีจำนวนคดีการกระทำความรุนแรงในครอบครัว 52 คดี ร้องทุกข์ 51 คดี ไม่ร้องทุกข์ 1 คดี คำสั่งกำหนดมาตรการ ฯ 8 คำสั่ง มีการละเมิดคำสั่งกำหนดมาตรการ/วิธีการบรรเทาทุกข์ 2 คำสั่ง และการยอมความชั้นสอบสวน 9 คำสั่ง
- สำนักงานอัยการสูงสุดมีจำนวนคดีสั่งฟ้อง 145 เรื่อง ไม่ฟ้อง 13 เรื่อง ยุติคดี (ยอมความ) 16 เรื่อง และใช้มาตรการ 16 เรื่อง
- สำนักงานศาลยุติธรรมมีคดีฟ้องต่อศาล 52 คดี โดยศาลยุติธรรมมีคำสั่งกำหนดมาตรการ ฯ 1 คำสั่ง และยอมความในชั้นพิจารณาคดี 4 เรื่อง
2. การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว
ในปี 2562 มีการช่วยเหลือ จำนวน 1,739 ความช่วยเหลือ โดยมีการจัดให้ได้รับการเข้ารักษาจากแพทย์ 250 ราย
การจัดให้ได้รับคำปรึกษาแนะนำจากจิตแพทย์ นักจิตวิทยานักสังคมสงเคราะห์ จำนวน 502 ราย การจัดให้ร้องทุกข์และดำเนินคดี 227 ราย การระงับเหตุและสอบถามผู้กระทำ/ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว จำนวน 495 ราย และการให้ความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ จำนวน 265 ราย
3. ส่วนที่ 3 บทวิเคราะห์สถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว และข้อเสนอแนะเชิงมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและต่อการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ในปี 2563 สำหรับข้อเสนอแนะเชิงมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ได้แก่ การส่งเสริมสหวิชาชีพและเครือข่าย ด้านครอบครัวไทยปลอดความรุนแรง การเสริมสร้างเครือข่ายในระดับพื้นที่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การสนับสนุนกระบวนการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 การสร้างทัศนคติความรู้ความเข้าใจต่อประชาชนเพื่อยุติความรุนแรงต่อ เด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว และการผลิตสื่อเพื่อเผยแพร่และเอกสารวิชาการ
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 มกราคม 2564