ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

ข่าวการเมือง Tuesday January 12, 2021 20:01 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 สภาผู้แทนราษฎร

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา ปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สภาผู้แทนราษฎร ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป

เรื่องเดิม

1. สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สภาผู้แทนราษฎร มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ ดังนี้ หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หมวด 4 หน้าที่ของปวงชน ชาวไทย หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ หมวด 7 รัฐสภา หมวด 8 คณะรัฐมนตรี หมวด 9 การขัดกันแห่งผลประโยชน์ หมวด 10 ศาล หมวด 11 ศาลรัฐธรรมนูญ หมวด 12 องค์กรอิสระ หมวด 13 องค์กรอัยการ หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ และบทเฉพาะกาล

2. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ สคก. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานและข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานและข้อสังเกตดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

ข้อเท็จจริง

สคก. ได้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยแล้ว โดยได้รวบรวมผลการพิจารณาเกี่ยวกับข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในประเด็นการศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 สภาผู้แทนราษฎร และผลการดำเนินการของหน่วยงานต่าง ๆ โดยได้สรุปความเห็นในภาพรวม เช่น การกำหนดหลักการเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยได้มีการคำนึงถึงสิทธิต่าง ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอยู่แล้วโดยในมาตรา 25 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยไว้ในรัฐธรรมนูญ และหากไม่มีการห้ามหรือจำกัดโดยรัฐธรรมนูญหรือโดยกฎหมาย บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะกระทำได้ทุกเรื่องและได้รับการคุ้มครอง การจะจำกัดสิทธิและเสรีภาพในเรื่องใดย่อมจะต้องพิจารณาโดยรอบคอบและเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและส่วนรวม ในส่วนของบทบัญญัติในมาตรา 50 เป็นพื้นฐานอันเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทย และไม่จำเป็นต้องแยกว่ากรณีใดเป็นสิทธิหรือหน้าที่ อย่างไรก็ตาม หากมีการศึกษาในภายหน้าแล้วเห็นว่าควรมีการปรับปรุงในการกำหนดให้กรณีใดควรเป็นสิทธิหรือหน้าที่ก็สามารถจะกระทำได้ สำหรับการบัญญัติหน้าที่ของรัฐตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐเป็นการให้หลักประกันการทำหน้าที่ของรัฐซึ่งรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้รัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินการ แต่ในการดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าว หน่วยงานของรัฐจะเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินการซึ่งควรมีกฎหมายเฉพาะที่กำหนดรายละเอียดของหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการด้วย แต่หากกลไกการดำเนินการตามกฎหมายเฉพาะยังไม่เพียงพอก็สามารถพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายนั้นให้ชัดเจนได้ เช่น การฟ้องคดีต่อศาล ก็สมควรเพิ่มเติมในกฎหมายดังกล่าวเพื่อกำหนดกรอบให้ชัดเจนในการให้อำนาจแก่ประชาชน การกำหนดให้นโยบายการบริหารราชการแผ่นดินต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ไม่เป็นข้อจำกัดของคณะรัฐมนตรีในการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะคณะรัฐมนตรีกำหนดให้ยุทธศาสตร์ชาติเป็นแผนระดับที่ 1 ซึ่งเป็นกรอบการพัฒนาที่มีความยืดหยุ่นตามบริบทการเปลี่ยนแปลงทั้งของโลกและประเทศที่ครอบคลุมทุกมิติซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฯ การพัฒนาประเทศ รวมทั้ง เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น

จึงได้เสนอผลการพิจารณาฯ มาเพื่อดำเนินการ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 มกราคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ