รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนพฤศจิกายน 2563

ข่าวการเมือง Tuesday January 12, 2021 20:04 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนพฤศจิกายน 2563 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้

สาระสำคัญ

1. สรุปสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนพฤศจิกายน 2563

การส่งออกของไทยมีสัญญาณฟื้นตัวที่ดี สินค้าส่งออกปรับตัวดีขึ้นหลายรายการ ตามการ ฟื้นตัวของเศรษฐกิจการค้าโลก สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของโลก (Global Manufacturing PMI) อยู่เหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 นอกจากนี้ องค์กรระหว่างประเทศได้ปรับการคาดการณ์ประมาณการเศรษฐกิจดีขึ้นจากเดิม เนื่องจากหลายประเทศมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกทั้งยังมีปัจจัยบวกจากความสำเร็จของการพัฒนาวัคซีน ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นทั้งในภาคการผลิต และการบริโภค การส่งออกของไทย เดือนพฤศจิกายน 2563 มีมูลค่า 18,932.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 3.65 ขณะที่การส่งออก 11 เดือนแรก (มกราคม-พฤศจิกายน) มีมูลค่า 211,385.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 6.92

สินค้าที่ขยายตัวได้ดี ยังคงเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) สินค้าอาหาร เช่น ผักและผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารสัตว์เลี้ยง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง สิ่งปรุงรสอาหาร 2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ และโทรศัพท์และอุปกรณ์ 3) สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ ถุงมือยาง

ตลาดส่งออก การส่งออกไปยังตลาดหลักและตลาดศักยภาพขยายตัวหลายตลาด

โดยตลาดหลักอย่างตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ตลาดญี่ปุ่นกลับมาขยายตัวเป็นเดือนแรก ขณะเดียวกันตลาดศักยภาพอย่างออสเตรเลียขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ตลาดแอฟริกา รัสเซีย และ CIS กลับมาขยายตัว ขณะที่หลายตลาดในตะวันออกลางหดตัวน้อยลงและมีบางตลาดขยายตัวเป็นบวก อาทิ ตุรกี ซาอุดีอาระเบีย อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปอาเซียน โดยเฉพาะ CLMV ยังหดตัว มีเพียงตลาดมาเลเซียที่ขยายตัว เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

มูลค่าการค้ารวม

มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนพฤศจิกายน 2563 การส่งออก มีมูลค่า 18,932.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 3.65 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การนำเข้า มีมูลค่า 18,880.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 0.99 การค้าเกินดุล 52.59 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพรวม 11 เดือนแรกของปี 2563 การส่งออก มีมูลค่า 211,385.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 6.92 การนำเข้า มีมูลค่า 187,872.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 13.74 ส่งผลให้ 11 เดือนแรกของปี 2563 การค้าเกินดุล 23,512.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท เดือนพฤศจิกายน 2563 การส่งออก มีมูลค่า 585,911.03 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 0.65 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การนำเข้า มีมูลค่า 592,369.78 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.98 การค้าขาดดุล 6,458.75 ล้านบาท ภาพรวม 11 เดือนแรกของปี 2563 การส่งออก มีมูลค่า 6,575,690.45 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 6.78 การนำเข้า มีมูลค่า 5,920,305.57 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 13.76 ส่งผลให้ 11 เดือนแรกของปี 2563 การค้าเกินดุล 655,384.88 ล้านบาท

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 2.4 (YoY) หดตัวที่ลดลงจากเดือนก่อน สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 32.5 (ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 23.6 (ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ อิตาลี มาเลเซีย ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย) ข้าว ขยายตัวร้อยละ 16.7 (ขยายตัวในตลาดเบนิน สหรัฐฯ จีน แอฟริกาใต้) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 14.0 (ขยายตัวในตลาดจีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ มาเลเซีย)

สิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัวร้อยละ 7.8 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย เมียนมา) ผักผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 2.0 (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ ฮ่องกง มาเลเซีย ออสเตรเลีย) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 74.1 (หดตัวในหลายตลาด อาทิ อินโดนีเซีย กัมพูชา จีน สปป.ลาว แต่ขยายตัวในตลาดเวียดนาม) อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 10.4 (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย แคนาดา แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อียิปต์ เกาหลีใต้ ซาอุดีอาระเบีย และไต้หวัน) เครื่องดื่ม หดตัวร้อยละ 8.7 (หดตัวในตลาดกัมพูชา และเวียดนาม แต่ขยายตัวในตลาดเมียนมา จีน สปป.ลาว สิงคโปร์ ฮ่องกง) ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป หดตัวร้อยละ 6.6 (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร แต่ขยายตัวในตลาดจีน สิงคโปร์ ฮ่องกง) ขณะที่ 11 เดือนแรกของปี 2563 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 4.0

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 2.9 (YoY) หดตัวต่อเนื่อง 7 เดือน สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ กลับมาขยายตัวร้อยละ 10.3 ในรอบ 9 เดือน (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย สหรัฐฯ) ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 13.3 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย) เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ขยายตัวร้อยละ 41.3 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย เมียนมา) โทรศัพท์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 35.5 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์) เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 22.2 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ เกาหลีใต้ แคนาดา) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 17.0 (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย สหรัฐฯ อินเดีย ไต้หวัน) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ขยายตัวร้อยละ 10.8 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เวียดนาม ออสเตรเลีย อาร์เจนตินา) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ ทองคำ หดตัวร้อยละ 42.7 (หดตัวในตลาดกัมพูชา สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น แต่ขยายตัวในสิงคโปร์ ออสเตรเลีย ฮ่องกง) สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวร้อยละ 11.4 (หดตัวแทบทุกตลาด อาทิ จีน กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ สปป.ลาว แต่ขยายตัวในเวียดนาม ญี่ปุ่น อินเดีย สหรัฐฯ) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ กลับมาหดตัวร้อยละ 7.4 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง จีน เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น แต่ขยายตัวในมาเลเซีย สิงคโปร์ เยอรมนี เกาหลีใต้) อัญมณีและเครื่องประดับ(ไม่รวมทองคำ) หดตัวร้อยละ 28.4 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง เยอรมนี แต่ขยายตัวในออสเตรเลีย อิตาลี ไต้หวัน) เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว หดตัวร้อยละ 11.0 (หดตัวในหลายตลาด อาทิ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ออสเตรเลีย เมียนมา จีน แต่ขยายตัวในฮ่องกง) ขณะที่ 11 เดือนแรกของปี 2563 สินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 6.6

ตลาดส่งออกสำคัญ

การส่งออกไปตลาดสำคัญปรับตัวดีขึ้น การส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้ 1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 5.9 จากตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 15.4 และญี่ปุ่นกลับมาขยายตัวร้อยละ 5.4 ขณะที่สหภาพยุโรป (15) หดตัวร้อยละ 8.5 2) ตลาดศักยภาพสูง หดตัวร้อยละ 11.0 โดยการส่งออกไปตลาดจีน อาเซียน (5) และ CLMV หดตัวร้อยละ 8.9 15.0 และ 13.0 ตามลำดับ ขณะที่เอเชียใต้หดตัวเล็กน้อยเพียงร้อยละ 1.5 และ 3) ตลาดศักยภาพระดับรอง ขยายตัวร้อยละ 4.2 จากการขยายตัวของการส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย (25) แอฟริกา รัสเซียและกลุ่ม CIS ร้อยละ 23.7 4.9 และ 20.8 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปตะวันออกกลาง(15) และลาตินอเมริกา หดตัวร้อยละ 12.1 และ 6.6 ตามลำดับ

2. แนวโน้ม และมาตรการส่งเสริมการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2563 - 2564

การส่งออกของไทยได้รับปัจจัยบวกจากความเชื่อมั่นเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวชัดเจนและจะส่งผลดีต่อการส่งออกในเดือนสุดท้ายของปี หากไทยได้รับมอบวัคซีนในช่วงกลางปี 2564 ตามกำหนด จะฟื้นคืนความเชื่อมั่นได้เร็วขึ้น และส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัว ซึ่งจะทำให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง ขณะที่การส่งออกในปี 2564 จะได้รับปัจจัยบวกจากการผลิตและการกระจายวัคซีน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และภาคการขนส่งที่จะสามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติเกิดความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ย่อมส่งผลดีต่อราคาน้ำมัน และการส่งออกสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ ขณะที่ปัจจัยท้าทาย การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่อาจยืดเยื้อและส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อทั่วโลก อีกทั้งการแพร่ระบาดในจังหวัดสมุทรสาครที่ต้องควบคุมไม่ให้เกิดการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน เพื่อมิให้ส่งผลต่อการส่งออกอาหารทะเลของไทย ปัญหาขาดแคลนตู้สินค้าต้องเร่งแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้กระทบต่อการส่งออกหลังจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว และหลายประเทศกลับมาส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น และปัญหาเชิงโครงสร้างของสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังผลิตจากเทคโนโลยีเก่า หากผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทันหรือไทยไม่สามารถดึงดูดการลงทุนในสินค้าอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เข้ามาในประเทศได้ อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกในระยะยาว

การส่งเสริมการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2563 กระทรวงพาณิชย์เร่งดำเนินการดังนี้ (1) แก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ส่งออก รวมทั้งลดค่าระวางเรือและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ (2) เจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ยังค้างอยู่ และเปิดการเจรจา FTA ใหม่ ๆ อาทิ ไทย-สหราชอาณาจักร ไทย-ยูเรเซีย ไทย-เอฟต้า อาเซียน-แคนาดา (3) ผลักดันการสร้างหุ้นส่วนพันธมิตรรายมณฑลของจีน และ (4) สั่งการให้ทูตพาณิชย์เร่งหาตลาดและโอกาสในการส่งออกเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มแต้มต่อกับการส่งออกของไทยในปี 2564

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 มกราคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ