ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตวิถีใหม่ พ.ศ. 2563

ข่าวการเมือง Tuesday January 12, 2021 20:13 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตวิถีใหม่ พ.ศ. 2563 [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (17 มิถุนายน 2545) ที่กำหนดให้สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) จัดเก็บข้อมูลและสถิติตัวเลข รวมทั้งสำรวจและสอบถามประชาชนเกี่ยวกับนโยบายหลัก ๆ ของรัฐบาลแล้วรายงานคณะรัฐมนตรีทราบ] โดย สสช. ได้สอบถามประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน 6,970 คน ระหว่างวันที่ 5 ? 9 ตุลาคม 2563 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 1. ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน

1.1 การปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตเมื่อออกนอกบ้าน พบว่า ประชาชนสวมหน้ากากออกจากบ้านมากที่สุด (ร้อยละ 96.7) รองลงมาคือ สวมหน้ากากเมื่อต้องพูดคุยกับบุคคลอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ญาติ/ พี่น้อง (ร้อยละ 94.8) และตรวจวัดไข้ก่อนเข้าไปยังสถานที่ต่าง ๆ (ร้อยละ 91.7)

1.2 การใช้เทคโนโลยีทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันเพื่อลดการสัมผัสเชื้อโรค พบว่า ประชาชนใช้แอปพลิเคขันไทยชนะสแกนเข้าออกห้าง/ร้านมากที่สุด (ร้อยละ 62.2) รองลงมาคือ ชำระเงินผ่านทางออนไลน์แทนเงินสด (ร้อยละ 45.7) และซื้อสินค้าออนไลน์ (ร้อยละ 44.4)

1.3 มาตรการ/แนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าควรสนับสนุนให้คนไทยเที่ยวภายในประเทศ (ร้อยละ 58.3) รองลงมาคือ ปิดประเทศเพื่อไม่ให้ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวหรือทำธุรกิจได้เลยจนกว่าสถานการณ์ จะสงบ (ร้อยละ 47.3) และให้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะหมดไป (ร้อยละ 40.3)

1.4 ผลกระทบด้านรายได้จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประชาชนส่วนใหญ่ระบุว่าได้รับผลกระทบด้านรายได้ (ร้อยละ 71.2) โดยประชาชนในกรุงเทพมหานครได้รับผลกระทบมากที่สุด (ร้อยละ 76.7) รองลงมาคือ ภาคใต้ชายแดน (ร้อยละ 75.3) และภาคใต้ (ร้อยละ 73.5) ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ส่วนใหญ่แก้ปัญหาโดยการประหยัดเพิ่มขึ้น/ลดรายจ่ายครัวเรือน (ร้อยละ 78.1) ปรับเปลี่ยนชีวิตโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง (ร้อยละ 49.3) และรอความช่วยเหลือจากรัฐบาล (ร้อยละ 23.7) โดยเรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ การลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน (ร้อยละ 67.8) การแก้ปัญหาค่าครองชีพสูง (ร้อยละ 51.1) และการช่วยเหลือจากภาครัฐ (ร้อยละ 33.2)

1.5 ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการดำเนินมาตรการ/การป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประชาชนให้คะแนนความเชื่อมั่นฯ เฉลี่ย 7.18 คะแนน (คะแนนเต็ม 10) โดยประชาชนภาคใต้มีคะแนนความเชื่อมั่นสูงที่สุด (7.73 คะแนน) รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (7.29 คะแนน) และภาคใต้ชายแดน (7.26)

1.6 ความสุขในการดำรงชีวิต ประชาชนให้คะแนนความสุขฯ เฉลี่ย 7.22 คะแนน (คะแนนเต็ม 10 คะแนน) โดยประชาชนภาคใต้มีคะแนนความสุขสูงที่สุด (7.60 คะแนน) รองลงมาคือ ภาคเหนือ (7.42 คะแนน) และภาคกลาง (7.31 คะแนน) 2. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย สสช. มีข้อเสนอแนะ ดังนี้

2.1 ควรมีมาตรการจูงใจประชาชนให้ใช้เทคโนโลยีเพื่อลดการสัมผัสเชื้อโควิด-19 เช่น การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือให้ส่วนลดสำหรับผู้ซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ การประกวดการใช้เทคโนโลยี เพื่อทำกิจกรรมประจำวัน

2.2 ควรมีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการจ้างงานหรือสร้างอาชีพ เพื่อให้ประชาชน มีรายงานเพิ่มขึ้น โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การสร้างความรู้ ความเข้าใจผ่านสื่อ และการจัดหาแหล่งเงิน

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 มกราคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ