ขออนุมัติใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับดำเนินงานโครงการเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม

ข่าวการเมือง Tuesday January 12, 2021 20:19 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขออนุมัติใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับดำเนินงานโครงการเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม พลิกฟื้นเศรษฐกิจภาคการเลี้ยงโคนมและผลิตภัณฑ์นม

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับดำเนินงานโครงการเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม พลิกฟื้นเศรษฐกิจภาคการเลี้ยงโคนมและผลิตภัณฑ์นม ภายในกรอบวงเงิน 1,477,758,400 บาท ให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) โดยจ่ายงบประมาณเพื่อจัดซื้อนมโรงเรียนขนิด ยู เอช ที ให้เด็กนักเรียนดื่มเพิ่มเติม ให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบจัดซื้อนมโรงเรียน ตามรายละเอียดดังนี้

1. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 1,098,086,400 บาท

2. กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 326,396,900 บาท

3. กรุงเทพมหานคร จำนวน 50,822,500 บาท

4. เทศบาลเมืองพัทยา จำนวน 2,452,600 บาท

สาระสำคัญ
1. กรมปศุสัตว์ได้หารือกับผู้ประกอบการในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ที่ได้รับผลกระทบ และสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย (ส.อ.น.ท.) ในนามผู้ประกอบการนมพาณิชย์ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 เพื่อพิจารณาหาแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนตามข้อเสนอของสำนักงบประมาณ (หนังสือด่วนที่สุด ที่ 0718/4851 ลงวันที่ 5 มกราคม 2564) และสามารถสรุปข้อมูลได้ ดังนี้

1) การนำนมโรงเรียนชนิด ยู เอช ที ที่ประสบปัญหาไม่มีที่จำหน่าย มาส่งมอบในภาคเรียนที่ 2/2563 นั้น ไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ เนื่องจากผู้ประกอบการยังคงรับซื้อผลผลิตน้ำนมดิบต่อเนื่องทุกวัน เพื่อนำไปผลิตนมโรงรียน ภาคเรียนที่ 2/2563 ตามที่ได้รับการจัดสรรสิทธิ หากไม่สามารถผลิตนมโรงเรียนได้ก็ต้องนำน้ำนมดิบส่วนนี้ไปบรรจุเป็นผลิตภัณฑ์ชนิด ยู เอช ที เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาและเกิดปัญหาในลักษณะเดียวกันต่อไป

2) ด้วยโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน จัดสรรงบประมาณให้เด็กนักเรียนดื่มนมชนิดพาสเจอร์ไรส์ในวันเปิดภาคเรียน จะดื่มนม ยู เอช ที ในวันปิดภาคเรียน ดังนั้น หน่วยจัดซื้อจึงมีงบประมาณไม่เพียงพอสำหรับจัดซื้อนมโรงรียนชนิด ยู เอช ที ตลอดภาคเรียน เนื่องจากนมโรงเรียนชนิด ยู เอซ ที มีราคาจำหน่าย 7.82 บาท/กล่อง ในขณะที่นมโรงเรียนชนิดพาสเจอรไรส์ มีราคาจำหน่าย 6.58 บาท/ถุง

3) สมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย (ส.อ.น.ท.) ในนามตัวแทนผู้ประกอบการนมพาณิชย์ แจ้งว่าผู้ประกอบการนมพาณิชย์ไม่สามารถรับซื้อน้ำนมดิบในส่วนที่เป็นโควตาของนมโรงเรียนเพิ่มเติมได้ เนื่องด้วยตลาดพาณิชย์ยังไม่ฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีการแพร่ ระบาดตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ประชาชนส่วนใหญ่มีกำลังซื้อลดลง ประกอบกับยังไม่มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาภายในประเทศไทย รวมทั้งปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีแนวโน้มขยายวงกว้างขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการนมพาณิชย์ต้องแบกรับภาระยอดผลิตภัณฑ์ที่คงเหลือเช่นกัน 2. กระทรวงเกษตรละสหกรณ์ได้ประชุมหารือแนวทางช่วยเหลือ เยียวยา เกษตรกรผู้เลี้ยโคนม และผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไววัสโคโรนา 2019 ได้ข้อสรุป ดังนี้

1) การแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน เสนอของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จัดซื้อนมโรงเรียนชนิด ยู เอซ ที ที่ค้างสต็อค เพื่อจัดสรรให้นักเรียนตามโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ปีการศึกษา 2563 ได้ดื่มเพิ่มขึ้นจะทำให้เกิดสภาพคล่องในห่วงโซ่การผลิตนมและผลิตภัณฑ์นม เกษตรกรสามารถจำหน่ายน้ำนมดิบและ ผู้ประกอบการดำเนินกิจการต่อไปได้

2) การแก้ไขปัญหาระยะกลางและระยะยาว มีข้อเสนอดังนี้

  • ศึกษา พัฒนา การนำน้ำนมดิบไปผลิตเป็นอาหารเสริมในสัตว์เลี้ยง
  • ศึกษาแนวทางการเพิ่มมูลค่าน้ำนม (Value Added) โดยนำน้ำนมไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่เป็นไปตามความต้องการของตลาดและผู้บริโภค เช่น วิปครีม ชีส เป็นต้น

3) การรณรงค์การบริโภคนมจะให้คนไทยได้รับทราบว่านมเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อ ทุกเพศทุกวัย และเพิ่มการบริโภคนมที่ใช้น้ำนมดิบภายในประเทศ

3. สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เกิดตั้งแต่ช่วงต้นปี พ.ศ. 2563

ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมเป็นวงกว้าง รวมถึงอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย เกษตรกรผู้เลี้ยง โคนม ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม และแรงงานในห่วงโซ่การผลิตนมและผลิตภัณฑ์นม จำนวนกว่า 120,000 ราย ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก เนื่องจากปัญหาสภาวะเศรษฐกิจทั่วไปถดถอย ยอดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมใน ตลาดนมพาณิชย์ลดลงประมาณร้อยละ 30 ถึงแม้ว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมจะพยายามแก้ปัญหาเบื้องต้น เพื่อลดการผลิตน้ำนมดิบ และนำน้ำนมดิบไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นมชนิด ยู เอช ที โดยบรรจุในกล่องนมโรงเรียน ซึ่งไม่สามารถนำไปจำหน่ายในตลาดนมพาณิชย์ได้ และหมดอายุลงระหว่างปลายปี พ.ศ. 2563 ? กลางปี 2564 จำนวนประมาณ 213 ล้านกล่อง ซึ่งมูลค่าตามราคากลางในการจำหน่ายนมโรงเรียนชนิด ยู เอช ที กล่องละ 7.82 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 1,655.66 ล้านบาท แต่หากคิดมูลค่าตามต้นทุนเฉลี่ยการผลิตนมโรงเรียนชนิด ยู เอช ที กล่องละ 7 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 1,477 ล้านบาท

การประกอบอาชีพเลี้ยงโคนมนั้น เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมประมาณ 20,000 ฟาร์ม มีภาระค่าใช้จ่ายประจำ ได้แก่ ค่าจ้างแรงงานในการรีดนม ประมาณ 4-6 คนต่อฟาร์ม ทำให้เกิดการจ้างงานประมาณ 120,000 คน

ค่าอาหารสำหรับเลี้ยงโคนม ซึ่งร้อยละ 60 ของอาหารโคนม ต้องเป็นอาหารหยาบ อาทิ หญ้าชนิดต่าง ๆ ฟางข้าว ข้าวโพด กากถั่ว กากมันสำปะหลัง กากปาล์ม เปลือกสับปะรด และกากน้ำตาล และอีกร้อยละ 40 ของอาหารโคนม เป็นอาหารข้นที่เกษตรกรอาจจะผลิตเอง หรือซื้อจากโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ค่าขนส่งน้ำนมดิบจากฟาร์มไปยังศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ ค่าขนส่งน้ำนมดิบจากศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบไปยังโรงงานแปรรูป เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นม นอกจากนั้น ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ จำนวน 151 แห่ง มีการจ้างงานประมาณ 1,000 คน และโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม จำนวน 50 ราย มีการจ้างงานอีกประมาณ 4,000 คน

เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมต้องรีดนมโคทุกวัน ทำให้มีผลผลิตน้ำนมดิบเกิดขึ้นต่อเนื่องทุกวันแต่เกษตรกรก็ได้ช่วยแก้ไขปัญหาเบื้องต้นของตนเองโดยการหยุดรีดนมโค (Dry) เพื่อลดปริมาณการผลิตน้ำนมดิบ เพราะผู้ประกอบการลดการรับซื้อลง ดังนั้น น้ำนมดิบที่เกินกว่าปริมาณที่ผู้ประกอบการต้องการรับซื้อ จึงต้องนำไป แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นม ยู เอช ที โดยการบรรจุกล่องนมโรงเรียนเพื่อช่วยยืดอายุการเก็บรักษาน้ำนมดิบให้ได้ถึง 10 เดือน แทนการผลิตเป็นนมชนิดพาสเจอร์ไรส์ซึ่งมีอายุการเก็บรักษาที่สั้นกว่ามาก จากการที่ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบจำหน่ายน้ำนมดิบได้ลดลง ทำให้ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบเกิดปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินในการจ่าย ค่าน้ำนมดิบให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ดังนั้น จึงต้องกู้เงินจากสถาบันการเงิน ทำให้เกิดภาระหนี้สิน

เนื่องจากผลิตภัณฑ์นม ยู เอช ที ที่บรรจุไว้ในกล่องนมโรงเรียนกำลังจะหมดอายุหากไม่สามารถนำไปจำหน่ายได้ จะเกิดปัญหาซ้ำต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ดังนั้น การเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยของบประมาณเพื่อจัดซื้อผสิตภัณฑ์นมชนิด ยู เอช ที ดังกล่าว จำนวนประมาณ 213 ล้านกล่อง เป็นเงินประมาณ 1,477 ล้านบาท เพื่อจัดสรรให้เด็กนักเรียนจะได้บริโภคนมเพิ่มขึ้นเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของร่างกายและภูมิคุ้มกันโรคของเด็กนักเรียน ลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 และยังเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก ให้มีการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง สร้างความยั่งยืนของอาชีพการเลี้ยงโคนมและอุตสาหกรรมนมของประเทศไทยต่อไป

4. วัตถุประสงค์ของโครงการ

1) เพื่อเป็นการช่วยเหลือและเยียวยาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ และผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์นม ยู เอช ที ที่ผลิตไว้ได้

2) เพื่อเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก สร้างงาน สร้างรายได้ ของเกษตรกร ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ และผู้ประกอบผลิตภัณฑ์นม ให้มีความยั่งยืนของอาชีพการเลี้ยงโคนมและอุตสาหกรรมนมตลอดห่วงโซ่การผลิตนมและผลิตภัณฑ์นม

3) เพื่อเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนได้มีการบริโภคนมมากขึ้น เสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง และมีภูมิคุ้มกันเข้มแข็ง ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

5. วิธีและขั้นตอนการดำเนินงาน

1) ให้คณะอนุกรรมการบริหารกลางโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน จัดสรรสิทธิ การจำหน่าย และให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนระดับกลุ่มพื้นที่ (5 กลุ่ม) จัดสรรพื้นที่การจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม

2) ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดซื้อนมโรงเรียน (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร และเทศบาลเมืองพัทยา) และโรงเรียน ดำเนินการจัดซื้อนมโรงเรียนในโครงการ โดยใช้วิธีการจัดซื้อลักษณะเดียวกับโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ทำสัญญาซื้อขายกับผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิ รวมทั้งจัดซื้อและส่งมอบนมโรงเรียนให้เด็กนักเรียนได้ดื่มตามระยะเวลาโครงการ

3) ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดซื้อนมโรงเรีย (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร และเทศบาลเมืองพัทยา) และโรงเรียน ร่วมกับกรมปศุสัตว์และหน่วยงานในสังกัด กำกับดูแล ติดตาม ตรวจสอบ และแก้ไขปัญหา

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 มกราคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ