คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมทางไกลระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณะรัฐเกาหลี ครั้งที่ 10 และมอบหมายส่วนราชการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ
สาระสำคัญ ถ้อยแถลงฯ และแผนปฏิบัติการฯ ไม่แตกต่างจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563 อย่างไรก็ตาม มีการเพิ่มประเด็น ดังนี้ (1) ความสำคัญของการเปิดตลาดการค้าและ การลงทุนเพื่อความยืดหยุ่นและการปรับตัวในการส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานในและนอกภูมิภาค (2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางบก ทางรถไฟ และท่าเรือในอนาคต (3) การเพิ่มรายละเอียดโครงการภายใต้กองทุนความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี รอบที่ 4 (4) การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาความร่วมมือ ในภูมิภาค และ (5) การสนับสนุนความร่วมมือเพื่อเข้าถึงวัคซีนและการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
1. ประเทศไทยชื่นชมบทบาทของเกาหลีในการขับเคลื่อนความร่วมมือในอนุภูมิภาคและเน้นย้ำประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ (1) ประเด็นโควิด-19 ขอบคุณเกาหลีที่สนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ภายใต้ความร่วมมืออาเซียนและคัดเลือกโครงการแบ่งปันประสบการณ์แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ และบทเรียนในการควบคุม การระบาดของโรคโควิด-19 ภายใต้โครงการกองทุนความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี รอบที่ 4 (2) การสนับสนุนแนวคิด 3P ของเกาหลี โดยย้ำว่าสันติภาพ (Peace) เป็นบริบทที่สำคัญต่อการดำเนินความร่วมมือ การปรับตัวและการเติบโตของภาคประชาชน (People) ที่จะเป็นพื้นฐานสำคัญของความร่วมมือ ซึ่งไทยให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และความเจริญรุ่งเรือง (Prosperity) เป็นส่วนสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์หลังโควิด-19 ซึ่งประเทศควรสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อขับเคลื่อนภาคธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อช่วยส่งเสริมความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค
2. ทุกประเทศแสดงความเห็นสอดคล้องกันในเรื่องต่าง ๆ ที่ระบุในเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมฯ โดยเน้นความร่วมมือด้านสาธารณสุขและการส่งเสริมความร่สมมือเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์การ แพร่ระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวง การท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม นำไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 มกราคม 2564