คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ?.) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ กค. รับความเห็นของสำนักงบประมาณ สำนักงานศาลยุติธรรม และธนาคารแห่งประเทศไทยไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
1. กฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งหนี้สูญของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไปและหนี้สูญของสถาบันการเงิน
2. โดยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดชั้นสินทรัพย์ทางการเงินให้สอดคล้องกับมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 โดยเปลี่ยนแปลงการจัดชั้นลูกหนี้จาก 6 ชั้น (ได้แก่ ปกติ กล่าวถึงเป็นพิเศษหรือควรระวังเป็นพิเศษ ต่ำกว่ามาตรฐาน สงสัย สงสัยจะสูญ และสูญ) เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) ไม่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต (Performing) (2) มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต (Under-Performing) และ (3) มีการด้อยค่าด้านเครดิต (Non-Performing) อันส่งผลต่อหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของสถาบันการเงิน เนื่องจากกฎกระทรวงฉบับที่ 186ฯ ได้กำหนดหลักเกณฑ์โดยอ้างอิงจากการจัดชั้นสินทรัพย์ทางการเงินตามหลักเกณฑ์เดิมของธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าว ประกอบกับปัจจุบันลูกหนี้จำนวนมากได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
3. ดังนั้น เพื่อเป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งหนี้สูญของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไป และหนี้สูญของสถาบันการเงิน ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การจัดชั้นสินทรัพย์ทางการเงินตามข้อ 2. และเพื่อให้การช่วยเหลือลูกหนี้และภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กค. จึงได้ยกร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ?.) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้
4. กค. ได้ดำเนินการจัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่จะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ดังนี้
4.1 ประมาณการการสูญเสียรายได้ การปรับปรุงหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้มิได้ทำให้สูญเสียรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากหนี้สูญเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่แล้ว
4.2 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของการจำหน่ายหนี้สูญของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและมาตรฐานการบัญชี และเจ้าหนี้สามารถจำหน่ายหนี้สูญสำหรับลูกหนี้ที่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ซึ่งรวมถึงลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้นและมีต้นทุนต่ำลง
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงฉบับที่ .. (พ.ศ. ?.) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญ จากบัญชีลูกหนี้ มาเพื่อดำเนินการ
1. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญในข้อ 4 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 186 ฯ ดังนี้ เพิ่มวงเงินสำหรับใช้บังคับหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญกรณีหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายมีจำนวนเกิน 2,000,000 บาทขึ้นไป (จากเดิมกำหนดให้หนี้ที่จะจำหน่ายของลูกหนี้แต่ละรายมีจำนวนเกิน 500,000 บาทขึ้นไป) และกำหนดขั้นตอนให้ต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ตามสมควร โดยมีหลักฐานการติดตามทวงถามอย่างชัดแจ้ง แต่ไม่ได้รับชำระหนี้ หรือฟ้องลูกหนี้ในคดีแพ่งหรือยื่นคำขอเฉลี่ยหนี้ในคดีแพ่งที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้ รายอื่นฟ้อง โดยมีหมายบังคับคดีของศาลแล้วและมีรายงานการบังคับคดีครั้งแรกของเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า มีการบังคับคดีแล้ว แต่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใดจะชำระหนี้ได้
2. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญในข้อ 5 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 186 ฯ ดังนี้ เพิ่มวงเงินสำหรับใช้บังคับหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญกรณีหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายมีจำนวนไม่เกิน 2,000,000 บาทขึ้นไป (จากเดิมกำหนดให้หนี้ที่จะจำหน่ายของลูกหนี้แต่ละรายมีจำนวนไม่เกิน 500,000 บาทขึ้นไป) และกำหนดขั้นตอนให้ต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ตามสมควร โดยมีหลักฐานการติดตามทวงถามอย่างชัดแจ้ง แต่ไม่ได้รับชำระหนี้ ฟ้องลูกหนี้ในคดีแพ่งและศาลมีคำสั่งรับคำฟ้องนั้นแล้ว หรือยื่นคำขอเฉลี่ยหนี้ในคดีแพ่งที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องและศาลมีคำสั่งรับคำขอนั้นแล้ว หรือฟ้องลูกหนี้ในคดีล้มละลายและศาลมีคำสั่งรับคำฟ้องนั้นแล้ว หรือยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องหรือในคดีที่ผู้ชำระบัญชีร้องขอให้ ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายและศาลมีคำสั่งรับคำขอรับชำระหนี้นั้นแล้ว
3. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญในข้อ 6 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 186 ฯ ดังนี้
3.1 กำหนดวงเงินสำหรับใช้บังคับหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญรายย่อยของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไปกรณีหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายมีจำนวนไม่เกิน 200,000 บาท (จากเดิมกำหนดให้หนี้ที่จะจำหน่ายของลูกหนี้แต่ละรายมีจำนวนไม่เกิน 100,000 บาท)
3.2 กำหนดให้การจำหน่ายหนี้สูญที่มีจำนวนไม่เกิน 200,000 บาท ไม่ต้องดำเนินการ ตามหลักเกณฑ์ในข้อ 1. หรือข้อ 2. ถ้าปรากฏว่า มีหลักฐานการติดตามทวงถามตามสมควรแล้ว แต่ไม่ได้รับชำระหนี้ และหากจะฟ้องลูกหนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่คุ้มกับหนี้ที่จะได้รับ
4. กำหนดหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของสถาบันการเงินในส่วนของหนี้จากการให้สินเชื่อที่ได้กันสำรองครบร้อยละ 100 ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด และมีลักษณะหนึ่งลักษณะใดดังต่อไปนี้ เช่น เป็นลูกหนี้ค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันไม่น้อยกว่า 360 วันหรือ 12 เดือน หรือเป็นลูกหนี้ที่เข้าหลักเกณฑ์การตัดสินทรัพย์ออกจากบัญชีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
5. กำหนดให้กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับสำหรับการจำหน่ายหนี้สูญในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่ม ในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 มกราคม 2564